วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เริ่มต้นเพาะเห็ดอย่างไรให้พอเพียงและยั่งยืน

เริ่มต้นเพาะเห็ดอย่างไรให้พอเพียงและยั่งยืน

วันนี้จ่าเอกว่าง จะขอเขียนเรื่องที่เคยสัญญาไว้เกี่ยวกับเรื่องเห็ด เห็ด หลายๆคนเล็งอาชีพเพาะเห็ดเพื่อที่จะใช้เป็นอาชีพเสริม บางคนเล็งเป้าใหญ่เลย ว่าจะทำเป็นอาชีพหลัก บางคนตั้งแต่ว่าจะทำแค่เปิดดอก บางคนตั้งใจจะทำก้อนเชื้อ บางคนเล็งถึงขั้นตอนผลิตเชื้อ ต่อเชื้อเอง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนไหน สำหรับผมและอยากให้เริ่มต้นอย่างพอเพียง เพราะภาพการเพาะเห็ดเป็นอาชีพภาพสวยหรูมาก มีแต่ได้ ได้ ได้ เอาเป็นว่าทำอย่างไรถึงจะพอเพียง และยั่งยืน

ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการเพาะเห็ดก็เหมือนอาชีพทั่วๆไป คือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง และการลงทุนก็คือความเสี่ยง เสี่ยงที่จะขาดทุน เสี่ยงต่อโรคต่างๆ ของเห็ด และที่เสี่ยงที่สุดคือ เสี่ยงจากความไม่รู้ และมั่นใจตัวเองมากเกินดไป จากประสบการณ์การเริ่มสิ่งที่ผมได้ยินมากที่สุดจากคนรอบข้างคือ เขาทำกันเยอะหลายคน และก็เจ๊งกันไปหมดแล้ว (โดยเฉพาะบ้านรั่วติดกันชั้นวางยังอยู่เป็นอนุสรณ์อยู่เลย) ทำให้จ่าเอกต้องหยุดชนักเหมือนกัน แต่ก็คิดว่า....แล้วคนอื่นหลายคนเขายังทำสำเร็จ และทำกันเป็นสิบๆ ปี ทำไมเขาถึงทำได้ จึงเป็นที่มาของการเดินทางดูฟาร์มแต่ละที่พูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคของแต่ละฟาร์ม เมื่อมั่นใจว่าเราน่าจะทำสำเร็จจึงเริ่มลงมือ หาความรู้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ยิ่งศึกษายิ่งทำให้รู้ว่า ใครที่ทำเห็ดแล้วล้มเหลวคือ ขาดจากความไม่รู้ ไม่อดทน ขาดการวางแผนการตลาด และลงทุนหนักเกินไป จึงเป็นที่มาของหัวข้อที่ผมเขียน ว่า...เริ่มต้นเพาะเห็ดอย่างไรให้พอเพียงและยั่งยืน....

พอเพียง.....คำนี้หลายๆคนคงเคยได้ยิน แต่ผมว่าความหมายแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะคนมีความอยาก มีความพอ ไม่เท่ากัน มาดูคำว่าพอเพียงที่นำมาใช้เกี่ยวกับการเพาะเห็ด ......เห็ดมีกระบวนการหลายกระบวนการในการทำ และคนส่วใหญ่จะเริ่มต้นที่เปิดดอก ซึ่งคิดว่าเป็นส่วนใหญ่ และทำง่ายที่สุดสำหรับคนเริ่มต้น ดังนั้นผมจะพูดคร่าวๆ เกี่ยวกับการพอเพียงเกี่ยวกับการเปิดดอกเห็ด



สำหรับคนที่จะเริ่มเปิดดอกเห็ด สิ่งแรกเลยที่ควรจะมี คือความเข้าใจเห็ดที่เราจะทำว่าเขาต้องการสภาพอากาศอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วเราจึงจะทำโรงเรือน .....
- โรงเรือนถือว่าเป็นการลงทุนถาวร เป็นการลงทุนครั้งเดียว (แต่ถ้าใช้วัสดุที่อายุการใช้งานสั้นก็อาจจะต้องทำบ่อยขึ้น) การลงทุนด้านโรงเรือน สำหรับคำทำเห็ดคือ ดูวัสดุใกล้มือ วัสดุที่มีแล้ว วัสดุท้องถิ่น เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหรือหลังคา หรืออุปกรณ์ล้อมรอบโรงเรือน (คือลดต้นทุนให้มากที่สุด)
- การทำชั้นวาง การทำชั้นวางสำหรับการเพาะเห็ดมีหลายๆ วัสดุแตกต่างกัน แต่หัวใจของเราคือลดต้นทุน หาวิธีวางให้ได้ประสิทธิภาพ มากที่สุด ชั้นวางไม่ได้มีไว้เพื่อวางเพียงอย่างเดียว ต้องมีส่วนในการป้องกันโรค แมลงต่างๆ ได้ด้วย
- ระบบการให้น้ำ การให้น้ำถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเพราะเห็ด ควรให้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระบบมือ หรือระบบอัตโนมัติ
- การดูแลรักษาโรคและแมลง เห็ดเป็นเชื้อรามีความไวต่อสารเคมี การกำจัดโรคและแมลง ควรเป็นแบบชีวภาพ ซึ่งการทำก็สามารถทำได้เอง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ต้องมีความรู้บ้าง ซึ่งความรู้ก็หาไม่ยาก ในอินเตอร์เน็ต ในยูทูป มีให้ศึกษามากมาย
- การวางแผนการเปิดดอก การกำหนดผลผลิต ควรที่มีการวางแผน เพราะเห็ดจะมีระยะเวลาพักตัว ซึ่งแต่ละช่วงก็จะมีเวลาพอสมควร หากไม่มีการวางแผนการลงก้อน จะทำให้ผลผลิตกระจุกตัว ช่วงที่ไม่มีผลผลิตจะเป็นตัวบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน
- การตลาด เรื่องนี้หลายๆคนจะพูดเป็นประเด็นแรกว่าจะขายให้ใคร ขายที่ไหน .....ช่วงเริ่มต้น จ่าเอกก็เถียงกับพ่อเรื่องนี้ (ปรกติเถียงกันทุกเรื่อง แต่ไม่เคยมีเรื่องกันซักที...555) การจะทำอะไรทุกคนจะถามว่าจะไปขายที่ไหน แต่จ่าเอกคิดมุมกลับ ถามตัวเอง เราจะทำอะไร ทำอย่างไรถึงจะเอาของดี ของมีคุณภาพไปขายให้คนอื่นได้ ซึ่งหากเราคิดว่าจะไปขายให้ใคร ใครจะซื้อ เราจะไม่มีทางได้คำตอบ เพราะคนที่เขาจะซื้อเขายังไม่เห็นเราทำอะไร คุณภาพแต่ไหน เขาก็คงตอบไม่ได้

ที่กล่าวมาเป็นขั้นตอนคร่าวๆ แต่หัวใจของการเพาะเห็ด และจะอยู่ได้ ข้อสำคัญคือ ลงทุนให้น้อยที่สุด รีบเอาทุนคืน และหากจะขยายควรทำแบบค่อยๆ เป็นค่อยไป เน้นความพอเพียง ความคุ้มค่าของวัสดุที่ใช้ในการลงทุน

หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์ เป็นข้อคิดให้คนที่กำลังเริ่มต้น และเป็นกำลังใจให้ทุกๆคนที่กำลังก้าวสู่อาชีพเพาะเห็ดถุงนะครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้