วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง...การทำการตลาดและการแปรรูป (5)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย  เรื่อง...การทำการตลาดและการแปรรูป (5)

จริงๆแล้วตอนที่ 5 ตั้งใจจะเขียนเรื่องการดูแลก้อน และการรักษาก้อนเห็ด แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สภาพแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เลยจะขอเขียนเรื่องการทำการตลาด เพราะหลายๆคนอยากทำแต่ติดปัญหาเรื่องที่ขาย

เมื่อเราทำการเปิดก้อนเชื้อเห็ด ซัก 7-10 วัน ถ้าปรับสภาพแวดล้อมตรงตามความต้องการของเห็ดเราก็จะเห็ดดอกเห็ดออกมาใช้เชย ชม ซึ่งเห็ดถ้ามีความสมบูรณ์ทั่วกันก็จะออกดอกมาพร้อมๆ กันซึ่งจะเก็บได้ 3-5 วัน แล้วจะการพักตัว ดังนั้นการวางแผนสำหรับคนที่พึ่งเริ่มเพาะเห็ด หากเพาะเป็นจำนวนมากก็หาที่ส่งโดยเป็นตลาดใกล้เคียง เช่นแผงผักตามหมู่บ้าน รถขายของวิ่งตามหมู่บ้าน แม่ค้าในตลาด เพื่อนบ้านข้างเคียง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน (เพื่อนร่วมงานขายง่ายสุด...555)

สำหรับมือใหม่ การเก็บดอกเห็ดมีคำถามว่าต้องทำอย่างไรต้องแต่งหน้าก้อนหรือไม่....??? การเก็บเห็ดสำหรับคนเก็บครั้งแรกจะมีความน่าตื่นเต้น วิธีการง่ายๆ ท่องไว้ว่า โยกซ้าย โยกขวา โยกบน โยกล่างเท่านี้ก็จะหลุดมาแบบง่ายๆ เมื่อดึงดอกเห็ดมาแล้ว ก็ดูบริเวณหน้าก้อนเห็ดว่ามีเศษเนื้อเห็ดติดหรือไม่ หรือมีดอกเล็กๆ หรือไม่ ก็ใช้ปลายช้อนแคะออก เก็บเฉพาะขนาดที่เหมาะสม คือจะไม่บานมากนัก หลายๆคนเก็บเห็ดบานคิดว่าจะได้น้ำหนัก แต่ความเป็นจริงเห็ดจะมีสปอร์ และเมื่อแก่สปอร์จะปลิว ทำให้ดอกเห็ดขาดน้ำหนัก การขายเราทำได้แบบขายปลึกและขายส่ง แต่ถ้าทำการขายปลีกได้ก็จะได้ราคาดีขึ้น ทำให้คืนทุนได้เร็วขึ้น
...ข้อแนะนำ... การเก็บควรเก็บหลังจากรดน้ำ อย่างน้อย 30 นาที เพราะถ้าเก็บตอนเห็ดเปียกๆ จะทำให้เห็ดฉ่ำ ไม่สวย เก็บไว้ได้ไม่นาน
....ตลาดเห็ดตาย... หลายๆ ที่อาจจะเจอปัญหาเรื่องตลาดเห็ดตาย คือเห็ดออกมาก ทั้งเห็ดบ้านและเห็ดป่า ซึ่งจะเกิดในช่วงที่ฝนตก อากาศเป็นใจ ราคาก็จะลดลง แต่มีทางแก้โดยการแปรรูป เป็นผลิตภันฑ์ต่างๆ เช่น น้ำพริกเห็ด เห็ดทอด เห็ดสวรรค์ แหนมเห็ด น้ำยาขนมจีนเห็ด ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดี ยิ่งใกล้เทศกาลกินเจ จะมีคนที่จะหันมาบริโภคเห็ดกันเยอะ ดังนั้นการวางแผนการตลาดจึงเป็นเรืองสำคัญอย่างหนึ่ง

เรื่องที่ขาดไม่ได้ การวางแผนการเก็บเงินเพื่อลงทุนก้อนชุดต่อไป....หลายๆคนทำแล้วเจ๊ง เพราะการขาดวางแผนการลงทุนครั้งต่อไป เพราะการซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะ เป็นการลงทุนเงินก้อน และได้ทะยอยเก็บเงินเป็นรายได้รายวัน ซึ่ง หากไม่มีการบริหารเรื่องการลงทุน ก็จะทำให้เมื่อก้อนเชื้อใกล้หมดอายุ จะไม่มีทุนเป็นเงินก้อนสำหรับการลงทุนรอบต่อไป ทำให้โรงเรือนที่ลงทุนก่อสร้างมาต้องพัก ทำให้คืนทุนได้น้อย ดังนั้นควร มีการเก็บเงินส่วนหนึ่ง หรือประมาณ 20-30% ของรายรับ มาเป็นค่าก้อนชุดต่อไป
การทำก้อนเชื้อเก่า ตีนเห็ดที่ตัดแล้วไปเพิ่มมูลค่าก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การนำก้อนเชื้อเก่า เพาะต้นอ่อน มาผลิตปุ๋ย หรือนำมาทำก้อนใช้เองใหม่ ส่วนตีนเห็ดมีโปรตีนสูง เหมาะที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ หรือเลี้ยงปลา ก็น่าจะเป็นไปได้

ตามที่เกริ่นๆมา เรื่องวินัยในการเก็บเงินเพื่อลงทุนรอบต่อไปถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ อาชีพเดินต่อไป ทั้งนี้อยากให้เป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป .......ด้วยรักและห่วงใยจาก...จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค.....

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง...การรดน้ำเห็ดนางฟ้า... (4)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย  เรื่อง...การรดน้ำเห็ดนางฟ้า... (4)

วันนี้หลังอบรมว่างๆ เลยมาเล่าเรื่องที่ติดค้างไว้ วันนี้ก็จะเป็นเรื่องการให้น้ำในโรงเรือนเห็ดนางฟ้า ซึ่งมีหลายๆคนถามมามากขอเล่าเป็นประเด็นๆ ดังนี้ครับ
การรดน้ำ เป็นการเพิ่มความชื้นในอากาศ และการลดอุหณภูมิในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ ซึ่งก็ต้องทำให้เหมาะสมกับความต้องการของเห็ด ซึ่งความชื้นสัมผัสที่ต้องการก็ประมาณ 80% และอุณหภูมิที่ต้องการคือการ 25-30 องศา หากใครที่ทำเห็ดมานานๆ เดินเข้าไปในโรงเรือนก็จะสัมผัสได้ว่าเป็นอุณหภูมิ และความชื้นที่พอเหมาะหรือไม่

คำถามที่มีคนถามมากคือ รดน้ำ จำนวนกี่ครั้ง...?? รดครั้งละกี่นาที...?
เป็นคำตอบที่ตอบยากพอสมควร เพราะสภาพพื้นที่ ลักษณะโรงเรือน การเก็บความชื้นของโรงเรือนไม่เท่ากัน บางโรงอากาศถ่ายเทได้ดี ก็จะมีการพัดความชื้นออกไปหมด เช่นฤดูหนาว ลมจะแรง ดอกเห็ดจะแห้งมัน เพราะลมพัดความชื้นออก ไปเร็วนั่นเอง
สำหรับการรดน้ำที่จ่าเอกใช้คือ ใช้วิธีรดน้อยๆ รดบ่อยๆ คือช่วงร้อนที่ผ่านรดน้ำโดยการรดครั้งละ 3-5 นาที วันละ 4-5 ครั้ง ระยะห่างของแต่ละหัว 1.5 เมตร ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหัวหมอกที่แต่ละคนใช้ด้วย เพราะหัวหมอกจะมีปริมาณการจ่ายน้ำไม่เหมือนกัน หากเป็นหัวที่จ่ายน้ำน้อยก็ต้องเพิ่มเวลา โดยสังเกตุว่าบริเวณพื้นเปียกแฉะเล็กน้อย และจะทำการให้น้ำอีกครั้งเมื่อพื้นเริ่มแห้ง ถ้ามีการแห้งเร็วแสดงว่าอากาศอาจจะร้อน หรือลมพัดแรง หรือสังเกตุบริเวณดอกเห็ดเริ่มขาดความชุ่มชั้น ก็ทำการเปิดได้ สำหรับท่อที่ใช้บางคนอาจจะใช้ท่อ พีอี ,พีวีซี แต่สำหรับจ่าเอกคิดว่าท่อ พีวีซี มีความคงทนกว่าจึงใช้ท่อ และสะดวกในการถอดหัวหมอกมาทำความสะอาด เพราะไม่ได้ทากาวไว้ ถึงแม้จะมีน้ำหยดลงบ้างแต่เป็นการหยดตรงกลางจะไม่เข้าหน้าก้อน

รดแบบอัตโนมัติ กับแบบมือ แบบไหนดีกว่ากัน ....??
ถ้าจะตอบคำก็ต้องถามว่าเรามีเวลาหรือไม่ ระบบอัตโนมัติ สะดวก สบาย ตรงเวลา แต่อาจจะไม่ตรงกับสภาพแวดล้อง เราต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมตามสภาพอากาศอยู่เสมอ แต่ก็สะดวกดีเหมือนกัน ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นมา
การติดตั้งหัวหมอกจ่ายน้ำ รวมทั้งระยะห่าง จำนวนหัวหมอกที่เหมาะสมครอบคลุมพื้นที่โรงเรือน เพราะหัวหมอกจะมีรัสมีการให้น้ำ ไม่เท่ากัน สำหรับระดับความสูงหัวหมอก ควรมีความสูงพอสมควร ซึ่งเมื่อมีการจ่ายน้ำแล้วหมอกจะลงในระดับโค้งลง ไม่พ่นเข้าบริเวณหน้าก้อน หากต่ำมากอาจจะพุ่งเข้าหน้าก้อนทำให้ก้อนเสียได้ง่าย

สำหรับวิธีการรดน้ำโดยใช้สายยาง ควรฉีดน้ำเป็นฝอยๆ ผ่านบริเวณหน้าก้อน ฉีดเป็นฝอยด้านบนเหนือก้อนให้โค้งลงบริเวณพื้น บริเวณหลังก้อน ห้ามให้น้ำเข้าบริเวรหน้าก้อน หรือมีบางที่ใช้ท่อพีวีซีเจาะรูปไว้เหนือก้อน แล้วเปิดน้ำให้ไหลหยดลงมา
สำหรับการซื้อหัวหมอกก็หาซื้อได้ทั่วไปทำเว็บไซต์ สั่งสะดวกสบายมาก ข้อควรระวังคือเรื่องปั้มควรมีความแรงที่เหมาะสม อย่างน้อย 1 แรงม้า / หัวหมอก 12 หัว (หัวที่จ่าเอกใช้ ตามรูป) ซึ่งทั้งหมดต้นทุน ประมาณ 2,500 บาท ทั้งนี้อยู่ที่หัวหมอกที่จะเลือกใช้ มีแบบราคาถูกๆ ต้นทุนก็จะลดลง
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์กนกโปรดัก
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง...โรงเรือน...(3)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย  เรื่อง...โรงเรือน...(3)

เอาใจแฟนเพจต่างประเทศกันหน่อยครับ
ขอตอบเรื่องการทำโรงเรือนแบบชัดเจนอีกนิดนึง เพราะการทำโรงเรือนก็คือการ ทำบ้าน การทำบ้านต้องตามใจผู้อยู่ ในครั้งนี้เราจะทำบ้านให้เห็ดนางฟ้าภูฏาน และนางรมฮังการี่ เห็ดสองชนิดนี้ชอบเหมือนๆกัน คือนิสัยใจคอเหมือนกัน อยู่ด้วยกันได้

เห็ดก็เหมือนคน คือชอบความสะบาย หากจะถามว่าแบบไหนจะดีที่สุด ตอบได้เหมือนคนเลย ชอบติดแอร์...ก็คือโรงเรือนแบบปิดนั่นเอง แต่โรงเรือนแบบปิดมีต้นทุนที่สูง ทั้งระบบทำความเย็น ระบบควบคุม ในที่นี้ไม่พูดถึงดีกว่า มาพูดแบบลูกทุ่งๆ อย่างเราๆ ล่ะกัน
โรงเรือนที่ดีสำหรับเพาะเห็ดนางฟ้าแบบลูกทุ่งๆ สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือ ทุน ถ้าเรามีทุนก็ทำอย่างไรก็ดีหมด ขอให้ตอบโจทย์ความต้องการของเห็ดให้ได้ดังนี้
1. อุณหภูมิ 26-30 องศา คือหนาวมากก็ออกมาไม่สมบูรณ์ออกน้อย ร้อนมากก็ไม่ออก หรือออกน้อยดอกแห้ง ผิวจะมัน พิสูจน์ง่ายๆคือตัวเราเข้าไปแล้วอากาศไม่หนาว ไม่ร้อน เย็นๆ เหมือนอยู่ในป่าไม้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ หลังคาควรใช้วัสดุที่ลดความร้อนได้ดี
*** แฟนเพจถามว่าใช้เหล็กได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่ต้องป้องกันเรื่องสนิมดีๆ เพราะต้องอยู่กับความชื้นตลอดเวลา อาจจะทำให้ผุงาย ทางที่ดีเสาปูนจะดีกว่า ถูกกว่า

2. ความชื้น ความชื้นคืออาหารเห็ดอย่างนึ่งเหมือนกัน เพราะเห็ดจะดูดความชื้นในบริเวณรอบๆ เพื่อให้ตัวเองเติบโต แต่ถ้าน้ำเข้าในก้อนโดยตรงก็จะทำให้ก้อนเน่า เกิดราอื่นๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ แสลนในการกั้นไม่ (ฟาร์มจ่าเอกใช้ 80% จำนวน 2 ชั้น) ความชื้นสำผัสที่เหมาะสม 70-80 ทำไปสังเกตุไปแล้วจะรู้ว่าประมาณไหน

3. แสง แสงก็มีส่วนสำคัญ โรงเรือนควรมีแสงส่องเข้าถึงแบบสลัวๆ ไม่มืดเกินไป ไม่สว่างเกินไป พิสูจน์ง่ายๆ คือ มองดูลายมือตัวเองเห็น หรือบางคนบอกว่าพออ่านหนังสือได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ แสลน

4. อากาศ เห็ด ต้องการหายใจเหมือนคนเรา คือถ้ามีเห็ดออกเยอะๆ จะมีก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ สะสมซึ่งจะมีน้ำหนัก จะกองอยู่บริเวณด้านล่าง ถ้าเราเข้าไปแล้วหายใจไม่ค่อยออกนั่นคือ มีการถ่ายเทของอากาศไม่ค่อยดี ต้องมีการทำให้อากาศถ่ายเท สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ช่องการระบายอากาศ อาจจะมีด้านหน้าหลัง ด้านข้าง เปิดปิดได้สะดวก

เมื่อเรารู้ความต้องการของเห็ด เรามาทำแบบที่ให้ตอบโจทย์ได้ ว่าจะมีคร่าวๆ แบบไหน (ตามประสบการณ์จ่าเอก) เรื่องแรกเสา ที่แฟนเพจชาวลาวสอบถามคือ เสาได้ทุกประเภท ขออย่างเดียวให้คงทน อยู่ได้นานหน่อย ถ้าคิดว่าจะยึดเป็นอาชีพหลัก เสาปูนผมว่าเป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งวัสดุต่างๆ ก็ยึดหลัก ตามกำลัง หาง่าย คงทน ส่วนขนาด ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ปัญหาของโรงเล็กคือ ต้องลงทุนสร้างโรงหลายโรง ทำให้สิ้นเปลือง ปัญหาโรงใหญ่คือ การบริหารจัดการเรื่องก้อนที่จะนำเข้า นำออก ปัญหาเรื่องโรคระบายภายในโรงเรือน ถ้าจะให้แนะนำ จำนวนโรงที่เหมาะสมคือ ขนาด 2000-2500 ก้อน น่าจะเหมาะสม (ทั้งนี้เน้นวัสดุเหลือใช้ ใกล้มือ หาง่าย คงทน เพราะต้นทุนก็คือกำไรนั่นเอง)
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และหวังว่าแฟนเพจชาวลาวคงอ่านเข้าใจนะครับ
ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง (2)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง (2)

หลังจากที่โพสแนวทางการเริ่มเพาะเห็ด โดยส่วนต่างๆ มีสมาชิกหลายๆท่านสอบถามถึงปัญหา และวิธีการต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงอยากจะขยายในส่วนวิธีการเพาะโดยเจาะลึกไปเรื่องการเพาะเห็ดนางฟ้าและการดูแลแบบคร่าวๆ

สำหรับคนที่จะเริ่มต้น สิ่งที่ต้องทำประการแรกคือศึกษาข้อมูล โดยรวม เมื่อเริ่มตัดสินใจจะลงทุนดังนี้
เริ่มต้นหาก้อนเชื้อจากฟาร์มที่ไว้ใจ ถ้าเป็นไปได้หาใกล้ๆ ซึ่งต้องคุยตกลงกันว่าก้อนเชื้อที่จะส่งต้องเชื้อเดินเต็มถึงบริเวณก้นถุง และหากจะให้ก้อนออกพร้อมกัน ก็จะรอให้ก้อนเชื้อรัดตัว จะมีตุ่มเล็กๆ (ตุ่มเกิดจากเห็ด) ซึ่งแบบนี้จะทำให้เห็ดออกพร้อมๆกัน
วิธีการเปิดหน้าก้อน มีหลายๆ คนสอบถามว่า ต้องขูดหน้าก้อนหรือไม่ ..... วิธีการที่จ่าเอกทำตอนนี้คือ มีทั้งขูดและไม่ขูด โดยการสังเกตุหน้าก้อน เมื่อมีการถอดจุก ถ้าหน้าก้อนเรียบดีข้าวฟ่างสะอาดสวยงามมีเชื้อเดิมเต็ม และขี้เลื่อยไม่หลุดออกจากก้อน ก็ไม่ต้องขูด แต่ถ้าเปิดจุกออกมา มีเมล็ดข้าวฟ่างไม่สวยงามอาจจะมีรานิดหน่อย หรือข้าวฟ่างหลุดไม่ติดกับก้อนเชื้อเห็ดก็ทำการขูดออกเพราะหากไม่ขูดจะทำให้ ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์ สรุปคือ ขูดหน้าก้อนเฉพาะก้อนที่หน้าก้อนไม่สวย แต่ถ้าหน้าก้อนสวยก็ปล่อยไว้ รอบต่อไปก็ค่อยทำความสะอาดหน้าก้อน

วิธีการรดน้ำ การให้น้ำ ต้องให้ตามสภาพอากาศ หากไม่มีอุปกรณ์วัด ก็ใช้ความรู้สึกของเรา ภายในโรงเรือนเมื่อเข้าไป ไม่ควร แออัด มืดทึบ หายใจไม่โล่ ไม่ร้อน ปริมาณการรดน้ำ ควรรดน้ำระยะสั้นๆ แต่ใช้ความถี่ในการรด เช่นที่จ่าเอกทำ อากาศร้อน อาจจะรด วันละ 4-5 ครั้ง ช่วงฝนตก อาจจะรดเพียง 1-2 ครั้ง
การเก็บและการดูแลรักษาก้อน เห็ดเป็นราชั้นสูง เป็นพืชชั้นต่ำ ต้องการความสะอาด ดังนั้นการเก็บเห็ดควรเอาชั้นเนื้อเห็ดออกมาให้หมด หากมีเศษเนื้อเห็ดก็ทำการแคะด้วยปลายช้อน ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ภายในโรงเรือนไม่ควรทิ้งเนื้อเห็ดไว้ เพราะจะเป็นสิ่งดึงดูดแมลงหวี่ หนอนแมลงต่างๆ
การดูแลโรงเรือน เพื่อเป็นการป้องกันแมลงต่างๆ ควรฉีดน้ำส้มควันไม้ รอบๆ บริเวณ อย่างน้อย อาทิตย์ละครั้งก็จะดี และหมั่นสังเกตุอาการก้อนเชื้อเห็ด ทั้งก้อน ทั้งดอก ว่าผิดปรกติหรือไม่ อยากจะบอกว่าการดูแลเราควรมีเวลาให้กับเห็ด เพาะต้องการความใส่ใจในรายละเอียดหลายๆอย่างเหมือนพืชผักอื่นๆ เช่นกัน

สิ่งที่ต้องมีติดฟาร์มเห็ด
1.จุลินทรีย์กำจัดรา ต่างๆ
2.จุลินทรีย์หรือสารชีวะภาพกำจัด ไล่ หนอน แมลงต่างๆ
หวังว่าพอจะเป็นแนวทางในการเพาะเห็ดบ้างนะครับ ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ ขอบคุณคับ
"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย....เรื่อง ต้องทำอะไรบ้าง (1)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย....เรื่อง ต้องทำอะไรบ้าง (1)

รับปากหลายท่านไว้ว่าจะเขียนเรื่องการทำอาชีพเปิดดอกเห็ดขาย ซึ่งตอบในช่องแชทก็คงจะยาว เลยบอกเพื่อนๆ ที่สนใจว่าจะมาโพสเป็นประทู้ใหม่
สำหรับผู้ที่สนใจสิ่งที่ควรทำอย่างแรกเลย คือ หาข้อมูลให้มากที่สุด หากมีเวลา หรือขับรถผ่าน ควรที่จะเข้าไปดูฟาร์มเห็ดต่างๆ เพราะแต่ละที่จะมีเทคนิคต่างๆ กัน และสิ่งที่ควรจะศึกษามีอยู่หลายอย่างซึ่ง จ่าเอกจะเล่าให้ฟังเป็นส่วนๆ ดังนี้

โรงเรือน โรงเร่ือนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการของเห็ดในแต่ละชนิดให้ได้ ในที่นี้ขอพูดถึงเห็ดนางฟ้า ซึ่งเป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวหนึ่ง โรงเรือนที่ดีควรมีการควบคุมความชื้น ควบคุมอุณภูมิ แสง การถ่ายเทอากาศ ได้ดีเหมาะสมกับเห็ด ซึ่งส่วนประกอบหลักๆ คือหลังคา ต้องป้องกันความร้อนได้ดี ซึ่งที่ดีที่สุดคือหญ้าคา แต่อายุการใช้งานอาจจะอยู่ได้เพียง 1-2 ปี แต่ถ้ามีวัสดุที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็ควรที่จะเลือกวัสดุที่ประหยัด แต่ขอให้ตอบโจทย์การป้องกันความร้อน หรืออาจจะเลือกทำเลทำโรงเรือนใต้ต้นไม้ ใต้ต้นใผ่ หรืออื่นๆ สำหรับพื้นควรเก็บความชื้นได้ดี หรืออาจจะโรยทราย หรืออาจจะเป็นพื้นปูน ตามงบประมาณเลยครับ

ชั้นวาง ชั้นวางก็มีอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชั้นตัวเอ ชั้นวางแบบแขวน ชั้นวางแบบคอนโด ต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน เอาแบบสรุปๆ
ชั้นตัวเอ ชั้นตัวเอ เป็นชั้นที่เห็นหลากหลาย ข้อดีคือการจัดวางเรืองก้อนง่าย รวดเร็ว วางก้อนได้มากพอสมควร ข้อเสียหากทำไม่ดีไม่ได้ระดับองศา จะทำให้ก้อนเชื้อถล่มลงมา และก้อนที่เห็ดออกด้านหลังก้อนก็จะไม่เห็นทำเน่าเสีย เป็นบ่อเกิดของรา แมลงอื่นๆ มาตอมและวางไข่
ชั้นแบบแขวน ซึ่งเป็นแบบที่จ่าเอกทำอยู่ ข้อดีคือสามารถเรียงก้อนได้มากกว่าชั้นตัวเอ อยู่ที่ระดับความสูงของคนเก็บว่าสามารถเก็บได้ระดับไหน ทำความสะอาดโรงเรือนง่าย หากเป็นพื้่นปูนสามารถกวาด ฉีดน้ำล้างได้ทันที หากมีเห็ดออกหลังก้อน สามารถมองเห็นได้ทันที ป้องกันแมลงจากพื้นดิน ข้อเสีย ใช้เวลาเรียงก้อนนานกว่าแบบตัวเอ หากไปซื้อแป้นจะมีต้นทุนที่สูง แต่สามารถประยุกต์ใช้ได้ https://www.youtube.com/watch?v=GL61zubvVz0
ชั้นแบบคอนโด เป็นแบบที่ใช้อิฐบล๊อควางแล้วใช้ไม้ไผ่พาด เป็นชั้นๆ ข้อดีก้อนไม่กดทับกันมากนัก การเลียงก้อนไม่ยากมาก ข้อเสียคือเลียงก้อนได้จำนวนน้อยที่สุด

การล้อมแสลน การกั้นล้อมแสลนก็มีผลกับการควบคุมความชื้น ความคุมอุณหภูมิ แสง และการถ่ายเทของอากาศ เห็ดแต่ละชนิดต้องการแตกต่างกัน ดังนั้นลองค้นหาในเน็ตดูแต่ไม่ต้องไปให้ความสำคัญเรื่องตัวเลขมาก เอาเป็นว่า เราอยู่ในโรงเรือนแล้วรู้สึกเย็นสบาย มองเห็นลายมือตัวเอง และควรมีการเปิดระบายอากาศหน้าหลังได้ เพราะบางฤดูต้องเปิดถ่ายเทอากาศ
ก้อนเชื้อ เรื่องก้อนเชื้อเป็นเรื่องสำคัญที่จ่าเอกให้ความสำคัญรองจากโรงเรือน การเลือกก้อนเชือควรเป็นก้อนเชื้อที่เดินเต็มถึงบริเวณก้นถุง หากเดิน ไม่ถึง 95% ไม่ควรเอามาเพราะต้องเสียเวลาพักก้อน (หลายๆที่ พยายามให้ลูกค้าเอาไปบ่มเอง ซึ่งมีโอกาสที่จะเสีย) เพราะเราลงทุนไปแล้วควรที่จะได้ทุนโดยเร็วที่สุด เพราะหากเราซื้อก้อนมาเปิด รอบที่ 1-2 ควรที่จะได้ทุนคืน หรือกำไรนิดหน่อย ซึ่งผลผลิตที่จะได้มากที่สุดคือ รอบแรก คิดเฉลี่ยน 1000 ก้อน ควรได้ประมาณ 60 กิโลกรัม ส่วนรุ่นต่อๆไปผลผลิตจะลดลง และก้อนที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มมีการระบาดของหนอน แมลง และราต่างๆ ดังนั้นการดูแลควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ระบบน้ำ การให้น้ำถึอเป็นทั้งการทำให้ก้อนออกดอกและการดูแลรักษาก้อน ระบบที่ดีที่สุดที่จะให้จ่าเอกแนะนำครับ การติดตั้งหัวหมอก หัวสเปร หรือจะเป็นท่อน้ำหยด แต่การควบคุมที่ดีที่สุดคือระบบมือ เพราะสภาพอากาศแตกต่างกัน บางครั้งเราต้องให้น้ำถี่ขึ้น หรือลดปริมาณน้ำลง แต่หากจะใช้เครื่องควบคุม ควรมีการปรับโปรแกรมตามสภาพอากาศแต่ละช่วง และไม่ควรให้น้ำเข้าไปขังภายในก้อน
การดูแลรักษาก้อน .....เรื่องนี้ยาว ต้องพูดกันเป็นเคสๆ เอาไว้โอกาสหน้าค่อยว่ากันนะครับ
การตลาด การตลาดเป็นคำถามแรกที่ทุกคนจะถาม ว่าจะขายที่ไหน มีที่รับส่งหรือไม่ ราคาเท่าไร ...ฯลฯ ส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด เราค่อยๆทำ ค่อยๆเพิ่มผลผลิต ค่อยๆ หาตลาดไปเรื่อยๆ หัดแปรรูป ต่างๆ

หวังว่าคงจะเป็นแนวทางในการเปิดดอกเห็ดไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณภาพจากฟาร์มต่างๆ ที่จ่าเอกไปเที่ยวชมมา

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

ค้นหาบล็อกนี้