วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง...การทำการตลาดและการแปรรูป (5)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย  เรื่อง...การทำการตลาดและการแปรรูป (5)

จริงๆแล้วตอนที่ 5 ตั้งใจจะเขียนเรื่องการดูแลก้อน และการรักษาก้อนเห็ด แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สภาพแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เลยจะขอเขียนเรื่องการทำการตลาด เพราะหลายๆคนอยากทำแต่ติดปัญหาเรื่องที่ขาย

เมื่อเราทำการเปิดก้อนเชื้อเห็ด ซัก 7-10 วัน ถ้าปรับสภาพแวดล้อมตรงตามความต้องการของเห็ดเราก็จะเห็ดดอกเห็ดออกมาใช้เชย ชม ซึ่งเห็ดถ้ามีความสมบูรณ์ทั่วกันก็จะออกดอกมาพร้อมๆ กันซึ่งจะเก็บได้ 3-5 วัน แล้วจะการพักตัว ดังนั้นการวางแผนสำหรับคนที่พึ่งเริ่มเพาะเห็ด หากเพาะเป็นจำนวนมากก็หาที่ส่งโดยเป็นตลาดใกล้เคียง เช่นแผงผักตามหมู่บ้าน รถขายของวิ่งตามหมู่บ้าน แม่ค้าในตลาด เพื่อนบ้านข้างเคียง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน (เพื่อนร่วมงานขายง่ายสุด...555)

สำหรับมือใหม่ การเก็บดอกเห็ดมีคำถามว่าต้องทำอย่างไรต้องแต่งหน้าก้อนหรือไม่....??? การเก็บเห็ดสำหรับคนเก็บครั้งแรกจะมีความน่าตื่นเต้น วิธีการง่ายๆ ท่องไว้ว่า โยกซ้าย โยกขวา โยกบน โยกล่างเท่านี้ก็จะหลุดมาแบบง่ายๆ เมื่อดึงดอกเห็ดมาแล้ว ก็ดูบริเวณหน้าก้อนเห็ดว่ามีเศษเนื้อเห็ดติดหรือไม่ หรือมีดอกเล็กๆ หรือไม่ ก็ใช้ปลายช้อนแคะออก เก็บเฉพาะขนาดที่เหมาะสม คือจะไม่บานมากนัก หลายๆคนเก็บเห็ดบานคิดว่าจะได้น้ำหนัก แต่ความเป็นจริงเห็ดจะมีสปอร์ และเมื่อแก่สปอร์จะปลิว ทำให้ดอกเห็ดขาดน้ำหนัก การขายเราทำได้แบบขายปลึกและขายส่ง แต่ถ้าทำการขายปลีกได้ก็จะได้ราคาดีขึ้น ทำให้คืนทุนได้เร็วขึ้น
...ข้อแนะนำ... การเก็บควรเก็บหลังจากรดน้ำ อย่างน้อย 30 นาที เพราะถ้าเก็บตอนเห็ดเปียกๆ จะทำให้เห็ดฉ่ำ ไม่สวย เก็บไว้ได้ไม่นาน
....ตลาดเห็ดตาย... หลายๆ ที่อาจจะเจอปัญหาเรื่องตลาดเห็ดตาย คือเห็ดออกมาก ทั้งเห็ดบ้านและเห็ดป่า ซึ่งจะเกิดในช่วงที่ฝนตก อากาศเป็นใจ ราคาก็จะลดลง แต่มีทางแก้โดยการแปรรูป เป็นผลิตภันฑ์ต่างๆ เช่น น้ำพริกเห็ด เห็ดทอด เห็ดสวรรค์ แหนมเห็ด น้ำยาขนมจีนเห็ด ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดี ยิ่งใกล้เทศกาลกินเจ จะมีคนที่จะหันมาบริโภคเห็ดกันเยอะ ดังนั้นการวางแผนการตลาดจึงเป็นเรืองสำคัญอย่างหนึ่ง

เรื่องที่ขาดไม่ได้ การวางแผนการเก็บเงินเพื่อลงทุนก้อนชุดต่อไป....หลายๆคนทำแล้วเจ๊ง เพราะการขาดวางแผนการลงทุนครั้งต่อไป เพราะการซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะ เป็นการลงทุนเงินก้อน และได้ทะยอยเก็บเงินเป็นรายได้รายวัน ซึ่ง หากไม่มีการบริหารเรื่องการลงทุน ก็จะทำให้เมื่อก้อนเชื้อใกล้หมดอายุ จะไม่มีทุนเป็นเงินก้อนสำหรับการลงทุนรอบต่อไป ทำให้โรงเรือนที่ลงทุนก่อสร้างมาต้องพัก ทำให้คืนทุนได้น้อย ดังนั้นควร มีการเก็บเงินส่วนหนึ่ง หรือประมาณ 20-30% ของรายรับ มาเป็นค่าก้อนชุดต่อไป
การทำก้อนเชื้อเก่า ตีนเห็ดที่ตัดแล้วไปเพิ่มมูลค่าก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การนำก้อนเชื้อเก่า เพาะต้นอ่อน มาผลิตปุ๋ย หรือนำมาทำก้อนใช้เองใหม่ ส่วนตีนเห็ดมีโปรตีนสูง เหมาะที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ หรือเลี้ยงปลา ก็น่าจะเป็นไปได้

ตามที่เกริ่นๆมา เรื่องวินัยในการเก็บเงินเพื่อลงทุนรอบต่อไปถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ อาชีพเดินต่อไป ทั้งนี้อยากให้เป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป .......ด้วยรักและห่วงใยจาก...จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค.....

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง...การรดน้ำเห็ดนางฟ้า... (4)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย  เรื่อง...การรดน้ำเห็ดนางฟ้า... (4)

วันนี้หลังอบรมว่างๆ เลยมาเล่าเรื่องที่ติดค้างไว้ วันนี้ก็จะเป็นเรื่องการให้น้ำในโรงเรือนเห็ดนางฟ้า ซึ่งมีหลายๆคนถามมามากขอเล่าเป็นประเด็นๆ ดังนี้ครับ
การรดน้ำ เป็นการเพิ่มความชื้นในอากาศ และการลดอุหณภูมิในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ ซึ่งก็ต้องทำให้เหมาะสมกับความต้องการของเห็ด ซึ่งความชื้นสัมผัสที่ต้องการก็ประมาณ 80% และอุณหภูมิที่ต้องการคือการ 25-30 องศา หากใครที่ทำเห็ดมานานๆ เดินเข้าไปในโรงเรือนก็จะสัมผัสได้ว่าเป็นอุณหภูมิ และความชื้นที่พอเหมาะหรือไม่

คำถามที่มีคนถามมากคือ รดน้ำ จำนวนกี่ครั้ง...?? รดครั้งละกี่นาที...?
เป็นคำตอบที่ตอบยากพอสมควร เพราะสภาพพื้นที่ ลักษณะโรงเรือน การเก็บความชื้นของโรงเรือนไม่เท่ากัน บางโรงอากาศถ่ายเทได้ดี ก็จะมีการพัดความชื้นออกไปหมด เช่นฤดูหนาว ลมจะแรง ดอกเห็ดจะแห้งมัน เพราะลมพัดความชื้นออก ไปเร็วนั่นเอง
สำหรับการรดน้ำที่จ่าเอกใช้คือ ใช้วิธีรดน้อยๆ รดบ่อยๆ คือช่วงร้อนที่ผ่านรดน้ำโดยการรดครั้งละ 3-5 นาที วันละ 4-5 ครั้ง ระยะห่างของแต่ละหัว 1.5 เมตร ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหัวหมอกที่แต่ละคนใช้ด้วย เพราะหัวหมอกจะมีปริมาณการจ่ายน้ำไม่เหมือนกัน หากเป็นหัวที่จ่ายน้ำน้อยก็ต้องเพิ่มเวลา โดยสังเกตุว่าบริเวณพื้นเปียกแฉะเล็กน้อย และจะทำการให้น้ำอีกครั้งเมื่อพื้นเริ่มแห้ง ถ้ามีการแห้งเร็วแสดงว่าอากาศอาจจะร้อน หรือลมพัดแรง หรือสังเกตุบริเวณดอกเห็ดเริ่มขาดความชุ่มชั้น ก็ทำการเปิดได้ สำหรับท่อที่ใช้บางคนอาจจะใช้ท่อ พีอี ,พีวีซี แต่สำหรับจ่าเอกคิดว่าท่อ พีวีซี มีความคงทนกว่าจึงใช้ท่อ และสะดวกในการถอดหัวหมอกมาทำความสะอาด เพราะไม่ได้ทากาวไว้ ถึงแม้จะมีน้ำหยดลงบ้างแต่เป็นการหยดตรงกลางจะไม่เข้าหน้าก้อน

รดแบบอัตโนมัติ กับแบบมือ แบบไหนดีกว่ากัน ....??
ถ้าจะตอบคำก็ต้องถามว่าเรามีเวลาหรือไม่ ระบบอัตโนมัติ สะดวก สบาย ตรงเวลา แต่อาจจะไม่ตรงกับสภาพแวดล้อง เราต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมตามสภาพอากาศอยู่เสมอ แต่ก็สะดวกดีเหมือนกัน ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นมา
การติดตั้งหัวหมอกจ่ายน้ำ รวมทั้งระยะห่าง จำนวนหัวหมอกที่เหมาะสมครอบคลุมพื้นที่โรงเรือน เพราะหัวหมอกจะมีรัสมีการให้น้ำ ไม่เท่ากัน สำหรับระดับความสูงหัวหมอก ควรมีความสูงพอสมควร ซึ่งเมื่อมีการจ่ายน้ำแล้วหมอกจะลงในระดับโค้งลง ไม่พ่นเข้าบริเวณหน้าก้อน หากต่ำมากอาจจะพุ่งเข้าหน้าก้อนทำให้ก้อนเสียได้ง่าย

สำหรับวิธีการรดน้ำโดยใช้สายยาง ควรฉีดน้ำเป็นฝอยๆ ผ่านบริเวณหน้าก้อน ฉีดเป็นฝอยด้านบนเหนือก้อนให้โค้งลงบริเวณพื้น บริเวณหลังก้อน ห้ามให้น้ำเข้าบริเวรหน้าก้อน หรือมีบางที่ใช้ท่อพีวีซีเจาะรูปไว้เหนือก้อน แล้วเปิดน้ำให้ไหลหยดลงมา
สำหรับการซื้อหัวหมอกก็หาซื้อได้ทั่วไปทำเว็บไซต์ สั่งสะดวกสบายมาก ข้อควรระวังคือเรื่องปั้มควรมีความแรงที่เหมาะสม อย่างน้อย 1 แรงม้า / หัวหมอก 12 หัว (หัวที่จ่าเอกใช้ ตามรูป) ซึ่งทั้งหมดต้นทุน ประมาณ 2,500 บาท ทั้งนี้อยู่ที่หัวหมอกที่จะเลือกใช้ มีแบบราคาถูกๆ ต้นทุนก็จะลดลง
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์กนกโปรดัก
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง...โรงเรือน...(3)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย  เรื่อง...โรงเรือน...(3)

เอาใจแฟนเพจต่างประเทศกันหน่อยครับ
ขอตอบเรื่องการทำโรงเรือนแบบชัดเจนอีกนิดนึง เพราะการทำโรงเรือนก็คือการ ทำบ้าน การทำบ้านต้องตามใจผู้อยู่ ในครั้งนี้เราจะทำบ้านให้เห็ดนางฟ้าภูฏาน และนางรมฮังการี่ เห็ดสองชนิดนี้ชอบเหมือนๆกัน คือนิสัยใจคอเหมือนกัน อยู่ด้วยกันได้

เห็ดก็เหมือนคน คือชอบความสะบาย หากจะถามว่าแบบไหนจะดีที่สุด ตอบได้เหมือนคนเลย ชอบติดแอร์...ก็คือโรงเรือนแบบปิดนั่นเอง แต่โรงเรือนแบบปิดมีต้นทุนที่สูง ทั้งระบบทำความเย็น ระบบควบคุม ในที่นี้ไม่พูดถึงดีกว่า มาพูดแบบลูกทุ่งๆ อย่างเราๆ ล่ะกัน
โรงเรือนที่ดีสำหรับเพาะเห็ดนางฟ้าแบบลูกทุ่งๆ สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือ ทุน ถ้าเรามีทุนก็ทำอย่างไรก็ดีหมด ขอให้ตอบโจทย์ความต้องการของเห็ดให้ได้ดังนี้
1. อุณหภูมิ 26-30 องศา คือหนาวมากก็ออกมาไม่สมบูรณ์ออกน้อย ร้อนมากก็ไม่ออก หรือออกน้อยดอกแห้ง ผิวจะมัน พิสูจน์ง่ายๆคือตัวเราเข้าไปแล้วอากาศไม่หนาว ไม่ร้อน เย็นๆ เหมือนอยู่ในป่าไม้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ หลังคาควรใช้วัสดุที่ลดความร้อนได้ดี
*** แฟนเพจถามว่าใช้เหล็กได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่ต้องป้องกันเรื่องสนิมดีๆ เพราะต้องอยู่กับความชื้นตลอดเวลา อาจจะทำให้ผุงาย ทางที่ดีเสาปูนจะดีกว่า ถูกกว่า

2. ความชื้น ความชื้นคืออาหารเห็ดอย่างนึ่งเหมือนกัน เพราะเห็ดจะดูดความชื้นในบริเวณรอบๆ เพื่อให้ตัวเองเติบโต แต่ถ้าน้ำเข้าในก้อนโดยตรงก็จะทำให้ก้อนเน่า เกิดราอื่นๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ แสลนในการกั้นไม่ (ฟาร์มจ่าเอกใช้ 80% จำนวน 2 ชั้น) ความชื้นสำผัสที่เหมาะสม 70-80 ทำไปสังเกตุไปแล้วจะรู้ว่าประมาณไหน

3. แสง แสงก็มีส่วนสำคัญ โรงเรือนควรมีแสงส่องเข้าถึงแบบสลัวๆ ไม่มืดเกินไป ไม่สว่างเกินไป พิสูจน์ง่ายๆ คือ มองดูลายมือตัวเองเห็น หรือบางคนบอกว่าพออ่านหนังสือได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ แสลน

4. อากาศ เห็ด ต้องการหายใจเหมือนคนเรา คือถ้ามีเห็ดออกเยอะๆ จะมีก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ สะสมซึ่งจะมีน้ำหนัก จะกองอยู่บริเวณด้านล่าง ถ้าเราเข้าไปแล้วหายใจไม่ค่อยออกนั่นคือ มีการถ่ายเทของอากาศไม่ค่อยดี ต้องมีการทำให้อากาศถ่ายเท สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ช่องการระบายอากาศ อาจจะมีด้านหน้าหลัง ด้านข้าง เปิดปิดได้สะดวก

เมื่อเรารู้ความต้องการของเห็ด เรามาทำแบบที่ให้ตอบโจทย์ได้ ว่าจะมีคร่าวๆ แบบไหน (ตามประสบการณ์จ่าเอก) เรื่องแรกเสา ที่แฟนเพจชาวลาวสอบถามคือ เสาได้ทุกประเภท ขออย่างเดียวให้คงทน อยู่ได้นานหน่อย ถ้าคิดว่าจะยึดเป็นอาชีพหลัก เสาปูนผมว่าเป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งวัสดุต่างๆ ก็ยึดหลัก ตามกำลัง หาง่าย คงทน ส่วนขนาด ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ปัญหาของโรงเล็กคือ ต้องลงทุนสร้างโรงหลายโรง ทำให้สิ้นเปลือง ปัญหาโรงใหญ่คือ การบริหารจัดการเรื่องก้อนที่จะนำเข้า นำออก ปัญหาเรื่องโรคระบายภายในโรงเรือน ถ้าจะให้แนะนำ จำนวนโรงที่เหมาะสมคือ ขนาด 2000-2500 ก้อน น่าจะเหมาะสม (ทั้งนี้เน้นวัสดุเหลือใช้ ใกล้มือ หาง่าย คงทน เพราะต้นทุนก็คือกำไรนั่นเอง)
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และหวังว่าแฟนเพจชาวลาวคงอ่านเข้าใจนะครับ
ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง (2)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย เรื่อง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง (2)

หลังจากที่โพสแนวทางการเริ่มเพาะเห็ด โดยส่วนต่างๆ มีสมาชิกหลายๆท่านสอบถามถึงปัญหา และวิธีการต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงอยากจะขยายในส่วนวิธีการเพาะโดยเจาะลึกไปเรื่องการเพาะเห็ดนางฟ้าและการดูแลแบบคร่าวๆ

สำหรับคนที่จะเริ่มต้น สิ่งที่ต้องทำประการแรกคือศึกษาข้อมูล โดยรวม เมื่อเริ่มตัดสินใจจะลงทุนดังนี้
เริ่มต้นหาก้อนเชื้อจากฟาร์มที่ไว้ใจ ถ้าเป็นไปได้หาใกล้ๆ ซึ่งต้องคุยตกลงกันว่าก้อนเชื้อที่จะส่งต้องเชื้อเดินเต็มถึงบริเวณก้นถุง และหากจะให้ก้อนออกพร้อมกัน ก็จะรอให้ก้อนเชื้อรัดตัว จะมีตุ่มเล็กๆ (ตุ่มเกิดจากเห็ด) ซึ่งแบบนี้จะทำให้เห็ดออกพร้อมๆกัน
วิธีการเปิดหน้าก้อน มีหลายๆ คนสอบถามว่า ต้องขูดหน้าก้อนหรือไม่ ..... วิธีการที่จ่าเอกทำตอนนี้คือ มีทั้งขูดและไม่ขูด โดยการสังเกตุหน้าก้อน เมื่อมีการถอดจุก ถ้าหน้าก้อนเรียบดีข้าวฟ่างสะอาดสวยงามมีเชื้อเดิมเต็ม และขี้เลื่อยไม่หลุดออกจากก้อน ก็ไม่ต้องขูด แต่ถ้าเปิดจุกออกมา มีเมล็ดข้าวฟ่างไม่สวยงามอาจจะมีรานิดหน่อย หรือข้าวฟ่างหลุดไม่ติดกับก้อนเชื้อเห็ดก็ทำการขูดออกเพราะหากไม่ขูดจะทำให้ ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์ สรุปคือ ขูดหน้าก้อนเฉพาะก้อนที่หน้าก้อนไม่สวย แต่ถ้าหน้าก้อนสวยก็ปล่อยไว้ รอบต่อไปก็ค่อยทำความสะอาดหน้าก้อน

วิธีการรดน้ำ การให้น้ำ ต้องให้ตามสภาพอากาศ หากไม่มีอุปกรณ์วัด ก็ใช้ความรู้สึกของเรา ภายในโรงเรือนเมื่อเข้าไป ไม่ควร แออัด มืดทึบ หายใจไม่โล่ ไม่ร้อน ปริมาณการรดน้ำ ควรรดน้ำระยะสั้นๆ แต่ใช้ความถี่ในการรด เช่นที่จ่าเอกทำ อากาศร้อน อาจจะรด วันละ 4-5 ครั้ง ช่วงฝนตก อาจจะรดเพียง 1-2 ครั้ง
การเก็บและการดูแลรักษาก้อน เห็ดเป็นราชั้นสูง เป็นพืชชั้นต่ำ ต้องการความสะอาด ดังนั้นการเก็บเห็ดควรเอาชั้นเนื้อเห็ดออกมาให้หมด หากมีเศษเนื้อเห็ดก็ทำการแคะด้วยปลายช้อน ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ภายในโรงเรือนไม่ควรทิ้งเนื้อเห็ดไว้ เพราะจะเป็นสิ่งดึงดูดแมลงหวี่ หนอนแมลงต่างๆ
การดูแลโรงเรือน เพื่อเป็นการป้องกันแมลงต่างๆ ควรฉีดน้ำส้มควันไม้ รอบๆ บริเวณ อย่างน้อย อาทิตย์ละครั้งก็จะดี และหมั่นสังเกตุอาการก้อนเชื้อเห็ด ทั้งก้อน ทั้งดอก ว่าผิดปรกติหรือไม่ อยากจะบอกว่าการดูแลเราควรมีเวลาให้กับเห็ด เพาะต้องการความใส่ใจในรายละเอียดหลายๆอย่างเหมือนพืชผักอื่นๆ เช่นกัน

สิ่งที่ต้องมีติดฟาร์มเห็ด
1.จุลินทรีย์กำจัดรา ต่างๆ
2.จุลินทรีย์หรือสารชีวะภาพกำจัด ไล่ หนอน แมลงต่างๆ
หวังว่าพอจะเป็นแนวทางในการเพาะเห็ดบ้างนะครับ ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ ขอบคุณคับ
"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย....เรื่อง ต้องทำอะไรบ้าง (1)

เริ่มต้นฟาร์มเห็ด โดยการเปิดดอกขาย....เรื่อง ต้องทำอะไรบ้าง (1)

รับปากหลายท่านไว้ว่าจะเขียนเรื่องการทำอาชีพเปิดดอกเห็ดขาย ซึ่งตอบในช่องแชทก็คงจะยาว เลยบอกเพื่อนๆ ที่สนใจว่าจะมาโพสเป็นประทู้ใหม่
สำหรับผู้ที่สนใจสิ่งที่ควรทำอย่างแรกเลย คือ หาข้อมูลให้มากที่สุด หากมีเวลา หรือขับรถผ่าน ควรที่จะเข้าไปดูฟาร์มเห็ดต่างๆ เพราะแต่ละที่จะมีเทคนิคต่างๆ กัน และสิ่งที่ควรจะศึกษามีอยู่หลายอย่างซึ่ง จ่าเอกจะเล่าให้ฟังเป็นส่วนๆ ดังนี้

โรงเรือน โรงเร่ือนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการของเห็ดในแต่ละชนิดให้ได้ ในที่นี้ขอพูดถึงเห็ดนางฟ้า ซึ่งเป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวหนึ่ง โรงเรือนที่ดีควรมีการควบคุมความชื้น ควบคุมอุณภูมิ แสง การถ่ายเทอากาศ ได้ดีเหมาะสมกับเห็ด ซึ่งส่วนประกอบหลักๆ คือหลังคา ต้องป้องกันความร้อนได้ดี ซึ่งที่ดีที่สุดคือหญ้าคา แต่อายุการใช้งานอาจจะอยู่ได้เพียง 1-2 ปี แต่ถ้ามีวัสดุที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็ควรที่จะเลือกวัสดุที่ประหยัด แต่ขอให้ตอบโจทย์การป้องกันความร้อน หรืออาจจะเลือกทำเลทำโรงเรือนใต้ต้นไม้ ใต้ต้นใผ่ หรืออื่นๆ สำหรับพื้นควรเก็บความชื้นได้ดี หรืออาจจะโรยทราย หรืออาจจะเป็นพื้นปูน ตามงบประมาณเลยครับ

ชั้นวาง ชั้นวางก็มีอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชั้นตัวเอ ชั้นวางแบบแขวน ชั้นวางแบบคอนโด ต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน เอาแบบสรุปๆ
ชั้นตัวเอ ชั้นตัวเอ เป็นชั้นที่เห็นหลากหลาย ข้อดีคือการจัดวางเรืองก้อนง่าย รวดเร็ว วางก้อนได้มากพอสมควร ข้อเสียหากทำไม่ดีไม่ได้ระดับองศา จะทำให้ก้อนเชื้อถล่มลงมา และก้อนที่เห็ดออกด้านหลังก้อนก็จะไม่เห็นทำเน่าเสีย เป็นบ่อเกิดของรา แมลงอื่นๆ มาตอมและวางไข่
ชั้นแบบแขวน ซึ่งเป็นแบบที่จ่าเอกทำอยู่ ข้อดีคือสามารถเรียงก้อนได้มากกว่าชั้นตัวเอ อยู่ที่ระดับความสูงของคนเก็บว่าสามารถเก็บได้ระดับไหน ทำความสะอาดโรงเรือนง่าย หากเป็นพื้่นปูนสามารถกวาด ฉีดน้ำล้างได้ทันที หากมีเห็ดออกหลังก้อน สามารถมองเห็นได้ทันที ป้องกันแมลงจากพื้นดิน ข้อเสีย ใช้เวลาเรียงก้อนนานกว่าแบบตัวเอ หากไปซื้อแป้นจะมีต้นทุนที่สูง แต่สามารถประยุกต์ใช้ได้ https://www.youtube.com/watch?v=GL61zubvVz0
ชั้นแบบคอนโด เป็นแบบที่ใช้อิฐบล๊อควางแล้วใช้ไม้ไผ่พาด เป็นชั้นๆ ข้อดีก้อนไม่กดทับกันมากนัก การเลียงก้อนไม่ยากมาก ข้อเสียคือเลียงก้อนได้จำนวนน้อยที่สุด

การล้อมแสลน การกั้นล้อมแสลนก็มีผลกับการควบคุมความชื้น ความคุมอุณหภูมิ แสง และการถ่ายเทของอากาศ เห็ดแต่ละชนิดต้องการแตกต่างกัน ดังนั้นลองค้นหาในเน็ตดูแต่ไม่ต้องไปให้ความสำคัญเรื่องตัวเลขมาก เอาเป็นว่า เราอยู่ในโรงเรือนแล้วรู้สึกเย็นสบาย มองเห็นลายมือตัวเอง และควรมีการเปิดระบายอากาศหน้าหลังได้ เพราะบางฤดูต้องเปิดถ่ายเทอากาศ
ก้อนเชื้อ เรื่องก้อนเชื้อเป็นเรื่องสำคัญที่จ่าเอกให้ความสำคัญรองจากโรงเรือน การเลือกก้อนเชือควรเป็นก้อนเชื้อที่เดินเต็มถึงบริเวณก้นถุง หากเดิน ไม่ถึง 95% ไม่ควรเอามาเพราะต้องเสียเวลาพักก้อน (หลายๆที่ พยายามให้ลูกค้าเอาไปบ่มเอง ซึ่งมีโอกาสที่จะเสีย) เพราะเราลงทุนไปแล้วควรที่จะได้ทุนโดยเร็วที่สุด เพราะหากเราซื้อก้อนมาเปิด รอบที่ 1-2 ควรที่จะได้ทุนคืน หรือกำไรนิดหน่อย ซึ่งผลผลิตที่จะได้มากที่สุดคือ รอบแรก คิดเฉลี่ยน 1000 ก้อน ควรได้ประมาณ 60 กิโลกรัม ส่วนรุ่นต่อๆไปผลผลิตจะลดลง และก้อนที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มมีการระบาดของหนอน แมลง และราต่างๆ ดังนั้นการดูแลควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ระบบน้ำ การให้น้ำถึอเป็นทั้งการทำให้ก้อนออกดอกและการดูแลรักษาก้อน ระบบที่ดีที่สุดที่จะให้จ่าเอกแนะนำครับ การติดตั้งหัวหมอก หัวสเปร หรือจะเป็นท่อน้ำหยด แต่การควบคุมที่ดีที่สุดคือระบบมือ เพราะสภาพอากาศแตกต่างกัน บางครั้งเราต้องให้น้ำถี่ขึ้น หรือลดปริมาณน้ำลง แต่หากจะใช้เครื่องควบคุม ควรมีการปรับโปรแกรมตามสภาพอากาศแต่ละช่วง และไม่ควรให้น้ำเข้าไปขังภายในก้อน
การดูแลรักษาก้อน .....เรื่องนี้ยาว ต้องพูดกันเป็นเคสๆ เอาไว้โอกาสหน้าค่อยว่ากันนะครับ
การตลาด การตลาดเป็นคำถามแรกที่ทุกคนจะถาม ว่าจะขายที่ไหน มีที่รับส่งหรือไม่ ราคาเท่าไร ...ฯลฯ ส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด เราค่อยๆทำ ค่อยๆเพิ่มผลผลิต ค่อยๆ หาตลาดไปเรื่อยๆ หัดแปรรูป ต่างๆ

หวังว่าคงจะเป็นแนวทางในการเปิดดอกเห็ดไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณภาพจากฟาร์มต่างๆ ที่จ่าเอกไปเที่ยวชมมา

"จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค เรามีมากกว่าคำว่าเห็ด"

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การทำฮอร์โมนตีนเห็ด

สวัสดีคับ....รับปากสมาชิกหลายท่านไว้ว่าจะทำคลิ๊ปการทำฮอร์โมนตีนเห็ดให้ชม ตอนนี้ว่างแล้วนะครับ ทำแบบไม่มีสคริ๊ป คิดอะไรออกก็พูดๆๆๆข้อมูลตกหล่นนิดหน่อย....มาเพิ่มตรงนี้เอาล่ะกัน....

หลังจากการหมัก 10-15 วัน ให้ดูว่าเกิดฝ้าขาวๆ บริเวณผิวหรือไม่ เกิดแสดงว่าพร้อมใช้งาน การใช้เงาน มีขั้นตอนดังนี้....

1.ทำการเปิดหน้าก้อน เห็ด อาจจะใช้วิธีการปาดหน้าก้อนบางส่วนออก หรือเปิดหน้าก้อนให้กว้าง
2. ฉีดน้ำผิวก้อนเชื้อเห็ดพอให้มีความชื้นด้วยน้ำที่ใช้รดเห็ด
3. นำฮอร์โมนที่พร้อมใช้งานโดยสังเกตุจากมีฝ้าขาวๆขึ้นบริเวณผิวน้ำ หลังจากการหมักไปแล้ว 10-15 วัน
4.ผสมน้ำฮอร์โมนตีนเห็ดในอัตราส่วน 1: 20
5. ให้น้ำก้อนเชื้อเห็ดปรกติตามสภาพอากาศ 4-7วันจะเห็นเห็ดงอกออกมาอีกครั้ง

ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ....จะมีสาระดีๆ มาฝากเรื่อยๆ
https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84/692985730786102



วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การฝัดข้าวคัดแยกสิ่งที่ไม่ต้องการออกแบบไทยๆ

การฝัดข้าวคือการทำความสะอาดข้าวที่ได้จากการสี อาจจะมีข้าวเปลือก หรือเมล็ดพืชชนิดต่างๆ ปนเปื้อนมา หรือคัดปลายข้าวออก เพื่อให้ข้าวที่จะหุงสวยสะอาด



ใครทำเป็นบ้างยกมือขึ้นหน่อยดิ...ส่วนมากซื้อข้าวกินกันหมด ทั้งๆที่ปลูกข้าวเอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังไปซื้อข้าวสำเร็จกิน  ว่างๆจะไปหุงข้าวขายบ้างท่าจะดี





วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

เกษตรไทยไอดอล ตอน เกษตรผสมผสาน ออกอากาศ 23 มีนาคม 2558







แนวทางฟาร์มจ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค ก็คงไปแนวทางแบบนี้โดยหัวใจหลักคือ ทุกชีวิตต้องมีหน้าที่ ต้องทำงาน ไม่มีใครว่างงาน รวมทั้ง จ่าเอกด้วยนะครับ...อิอิ

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

วิธีการ “การขยายพันธุ์มะนาวด้วยใบ”

สมัยนี้ต่างก็ได้ยินคนบ่นกันว่ามะนาวแพง ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงแพง ก็เพราะกว่าจะได้มะนาวสักลูกนั้น ชาวสวน หรือผู้ที่ปลูกมะนาวก็ต้องเจอกับ ทั้งหนอน ทั้งโรค ทั้งเชื้อรา ไหนจะฝนฟ้าที่ตกมาในช่วงที่ต้องการให้ออกดอก ออกผล จนกระทั้งกำหนดการหรือเป้าหมายที่วางไว้ต้องคลาดเคลื่อนไปนั้นมันยุ่งยากและซับซ้อนจนหลายคนยอมแพ้ทิ้งสวนมะนาวไปทำงานจ้างก็หลายรายอยู่ และกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ก็ต้องใช้เวลานานตั้ง 5 ถึง 6 เดือนกันเลยทีเดียว แต่กระนั้นมะนาวก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันมีความต้องการมะนาวสูงมาก แทบขาดกันไม่ได้ หากใครที่สนใจอยากจะปลูกมะนาวขายบ้าง หรือลองปลูกไว้กินเองที่บ้าน ลองอ่านศึกษาดูได้จากบทความนี้เลยครับ

วิธีการ “การขยายพันธุ์มะนาวด้วยใบ” โดยตามแบบฉบับของ ครูติ่ง ซึ่งสามารถขยายพันธุ์มะนาวได้ทีละมากๆด้วย

โดยวิธีการขยายพันธุ์มะนาวด้วยใบ โดย ครูติ่ง นั้นมีขั้นตอนการทำดังนี้
1. นำกาบมะพร้าวตัดเป็นท่อนยาวราว 2.5-3 ซม. นำไปแช่น้ำไว้จนชุ่ม เอาค้อนทุบจนกาบมะพร้าวแตกนุ่มขึ้น เพื่อง่ายต่อการห่อให้กลม
2. เมื่อได้กาบมะพร้าวที่นุ่มแล้ว นำมาห่อม้วนเป็นทรงกลม รัดหนังยางหัวท้าย แล้วนำตะปูทิ่มลงไปบริเวณด้านบนของกาบมะพร้าวให้เป็นรู เพื่อลดการเสียดสีเวลานำใบเสียบลงไป
3. ตัดใบให้มีก้านด้านบนใบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างก้านใบให้ยาวเกือบถึงชั้นที่อยู่ด้านล่างถัดไป หรือยาวประมาณ 1-1.5 ซม.
4. ตัดใบออกครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการคายน้ำ
5. เปิดกรีดเปลือกหุ้มก้านด้านของใบ หรือเปิดแผลตามความยาวของก้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการออกราก 1-3 หน้า หากไม่ทำเช่นนี้รากจะออกเฉพาะที่ปลายลอยตัดเท่านั้น ถือว่าน้อย ทำให้ต้นมะนาวที่นำไปปลูกไม่แข็งแรง ถ้ากรีดพื้นที่ตรงนี้จะเพิ่มพื้นที่ในการออกรากมากขึ้นนั่นเอง
6. นำกิ่งที่เปิดหน้าแล้ว ไปจุ่มในน้ำยาเร่งราก แล้วเอาไปผึ่งลมให้แห้ง ถ้าไม่แห้งเมื่อนำไปเสียบในกาบมะพร้าวอาจเน่าได้
7. เมื่อแห้งแล้ว เอาไปเสียบในกาบมะพร้าวที่เตรียมไว้จนมิดด้าม พอเสียบได้ 4 ก้อน หรือ 4 กิ่งมามัดรวมกัน เพื่อให้ตั้งได้
8. นำก้อนกาบมะพร้าวที่เสียบกิ่งแล้ว ไปจุ่มน้ำให้ชุ่มแล้วใส่ไว้ในถุงร้อน มัดหนังยางในลักษณะให้ถุงร้อนพองโป่งออก ให้ใบไม่กระทบถุง หรือถ้าหากมี ห้องพ่นหมอกจะดีมาก ให้เอาพันธุ์มะนาวที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วเข้าในห้องพ่นหมอกจะช่วยให้รากแตกเร็ว และที่สำคัญเพิ่มอัตราการรอดได้มาก
9. เมื่อได้ถุงที่มีก้อนกาบมะพร้าวเสียบใบมะนาวอยู่ด้านในเรียบร้อยแล้ว ให้เอาไปตั้งไว้ใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงา ให้โดนแสงบ้างเล็กน้อย ประมาณ 1 เดือน มะนาวจะเริ่มออกรากหรือเริ่มติดตายอด ส่วนถ้าเป็นมะกรูดจะใช้เวลานานประมาณ 3-4 เดือน จึงจะเริ่มออกรากและติดตายอด ซึ่งถ้าจะให้สมบูรณ์ควรรอทั้งรากและตาออกมาทั้งคู่ จึงเริ่มนำไปลงถุงชำต่อไปได้
“การขยายพุนธุ์มะนาวด้วยใบนั้นมี ข้อดี คือ แม้ว่าเรามีพันธุ์มะนาวที่ดีเพียงแค่ต้นเดียวก็สามารถขยายพันธุ์มะนาวได้เป็นจำนวนมากๆ เป็นร้อยเป็นพันต้นก็ได้”
หากใครสนใจจะปลูกมะนาวไว้กินเองที่บ้าน (ตามที่ท่านนายกบอก) ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาราคามะนาวแพงให้กับผู้ซื้อได้ ก็ลองทำตามวิธีของครูติ่งได้ เพราะครูติ่งได้บอกไว้แล้วว่าโอกาสรอดของการปลูกแบบวิธีนี้ก็มีสูงด้วย

ข้อมูล: บันทึกลุยทุ่งกับ ธกส.
เครดิต   http://www.m-group.in.th/article/

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

มาทำสบู่ใช้เองกันเถอะ....การผลิตสบู่สมุนไพรภาคครัวเรือน ทำง่ายๆ รายได้ดีๆ

สบู่ และวิธีการทำสบู่


สบู่ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดร่างกายที่ได้จากปฏิกิริยาของด่างกับไขมันจากพืชหรือสัตว์ ปัจจุบัน สบู่มีการใช้ส่วนผสมชนิดต่างๆเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของสบู่ให้มีลักษณะพิเศษ ตรงตามความต้องการใช้งานที่หลากหลายขึ้น
สบู่” จากคำข้างต้น หมายถึง ผลิตภัณฑ์ของสบู่ที่ทำให้เป็นก้อนหรือเป็นของเหลว พร้อมด้วยส่วนผสมต่างๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการใช้ทำความสะอาด ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์สบู่ที่เราใช้กันในทุกวันนี้ ส่วน “สบู่ (soap)” อีกคำที่พบในสมการเคมีจะหมายถึง สารตั้งต้นสำหรับการผลิตสบู่ นั่นก็คือ เกล็ดสบู่ (soap) ที่ได้จากปฏิกิริยาระหว่างด่างเข้มข้นกับไขมันพืชหรือสัตว์ ร่วมด้วยกับกลีเซอรีน (Glycerine)/กลีเซอรอล (Glycerol) ซึ่งสารทั้งสองเป็นสารตั้งต้นในการทำสบู่เหมือนกัน แต่จะให้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเรียกว่า “เกล็ดสบู่”
ไขมันพืช/ไขมันสัตว์ + โซเดียมไฮดรอกไซด์/โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ = เกล็ดสบู่ (soap) + กลีเซอรอล/กลีเซอรีน + แอลกอฮอล์ + น้ำ
สบู่
การเตรียมเกล็ดสบู่
ชนิดของสบู่
1. สบู่ก้อนขุ่น
เป็นผลิตภัณฑ์สบู่ที่รู้จัก และใช้กันมานานจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีขาวขุ่นหรือมีสีต่างๆ ตามสีของสารเติมแต่ง เช่น สีเขียว สีชมพู สีม่วง เป็นต้น สบู่ชนิดนี้ใช้สารตั้งต้น คือ เกล็ดสบู่ (soap) ที่ผลิตได้จากปฏิกิริยาข้างต้นเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต ที่ให้คุณสมบัติเป็นก้อนแข็ง ขาวขุ่น ให้ฟองมาก
2. สบู่ก้อนใส
เป็นผลิตภัณฑ์สบู่ที่มีลักษณะก้อนใสหรือค่อนข้างใสตามสัดส่วนของกลีเซอรีนที่ผสม ก้อนสบู่จะมีลักษณะอ่อนกว่าสบู่ก้อนขุ่น และสามารถทำให้เกิดสีใสต่างๆตามสารให้สีที่เติมผสม สบู่ชนิดนี้จะให้ฟองค่อนข้างน้อยกว่าสบู่ก้อนขุ่น เนื่องจากมีส่วนผสมของกลีเซอรีนเป็นส่วนใหญ่ สารตั้งต้นที่ใช้อาจเป็นกลีเซอรีนเหลวหรือกลีเซอรีนก้อน (กลีเซอรีนเหลว+เอทิลแอลกอฮอล์) ร่วมด้วยกับสารเติมแต่งชนิดต่างๆ
3. สบู่เหลว
เป็นผลิตภัณฑ์สบู่ที่มีน้ำเป็นส่วนผสมทำให้เนื้อสบู่เหลว สีสีสันต่างๆตามสารเติมแต่ง สบู่ชนิดนี้ใช้สารตั้งต้นจากเกล็ดสบู่ (soap) ที่ได้จากปฏิกิริยาข้างต้นเหมือนชนิดสบู่ก้อนขุ่น แต่ต่างกันที่จะใช้ด่างเข้มข้นโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์แทนโซเดียมไฮดรอกไซด์ เพราะจะให้เนื้อสบู่อ่อนตัวดีกว่า
ลักษณะของสบู่ที่ดี
1. มีความสามารถทำความสะอาดได้ดี
2. มีฟองในระดับที่เหมาะสม
3. มีความเป็นด่างน้อยในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหรือทำลายชั้นไขมันของผิว
4. สบู่ก้อนไม่มีเนื้อเหลว แตกหักง่าย
5. ไม่มีกลิ่นหืน มีกลิ่นหอมน่าใช้ และมีคุณสมบัติเฉพาะในบางกรณี เช่น สบู่ฆ่าเชื้อ
สารเคมีที่ใช้ทำสบู่
1. ไขมัน/น้ำมัน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสารตั้งต้นสบู่ ไขมันหรือน้ำมันที่ใช้อาจได้จากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันปาล์ม เป็นต้น ส่วนไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น ไขมันโค กระบือ แกะ แพะ เป็นต้น คุณภาพของน้ำมันที่ได้จากพืช และสัตว์จะมีผลต่อคุณภาพของสบู่ เกล็ดสบู่ (soap)ที่ได้จากน้ำมันพืชจะให้ลักษณะขาวเนียน และกลีเซอรีนจะค่อนข้างใสกว่าน้ำมันจากสัตว์ นอกจานั้น เกล็ดสบู่ (soap) ที่ได้จากน้ำมันจากพืชจะมีกลิ่นหืนน้อยกว่าน้ำมันจากสัตว์ อีกทั้งน้ำมันจากพืชยังเป็นวัตถุดิบที่หาง่าย และราคาถูกกว่า
2. ด่างเข้มข้น เป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้ทำปฏิกิริยากับไขมันธรรมชาติ ด่างเข้มข้นที่นิยมใช้ คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งจะได้เนื้อสบู่สีขาวทึบ เนื้อก้อนแข็ง ให้ฟองมาก นิยมนำมาทำสบู่ก้อนทึบ และอีกชนิดหนึ่ง คือ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งจะได้สบู่ในลักษณะเดียวกัน แต่เนื้อสบู่มีความอ่อนตัวได้ดีกว่า นิยมนำมาทำสบู่เหลว
3. สารเติมแต่ง เป็นสารเคมีสำหรับปรับปรุงคุณสมบัติของสบู่ เช่น สี น้ำหอม สมุนไพร สารป้องกันความชื้น สารลดความเป็นด่าง สารลดแรงตึงผิว สารทำให้ฟองคงตัว สารเพิ่มความแข็ง สารป้องกันการออกซิเดชัน สารบำรุงผิว สารฆ่าเชื้อ เป็นต้น เป็นสารเติมแต่งที่นิยมผสมในสบู่เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การใช้ประโยชน์ในแต่ละอย่าง
วิธีการทำสบู่
การทำสบู่ในระดับอุตสาหกรรม และระดับครัวเรือน ในกรรมวิธีหลักๆจะไม่แตกต่างกันมาก แต่ในทางอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการที่ละเอียด และซับซ้อนกว่า โดยในภาคอุตสาหกรรมอาจเตรียมสบู่สารตั้งต้นเองหรือสั่งซื้อจากอีกแหล่งที่ทำหน้าที่รับผลิต ทั้งที่เป็นเกล็ดสบู่ (soap) เพื่อผลิตสบู่ก้อนขุ่น หรือสบู่เหลว และกลีเซอรีน เพื่อผลิตสบู่ก้อนใส
1. การผลิตสบู่ในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับภาคครัวเรือนสามารถผลิตได้ทั้งสบู่ก้อนขุ่น สบู่ก้อนใส และสบู่เหลว โดยนิยมสั่งซื้อเกล็ดสบู่ (soap) และกลีเซอรีน จากแหล่งจำหน่ายโดยไม่ต้องเตรียมเอง
ขั้นตอนการผลิตสบู่ภาคอุตสาหกรรม
– การฟอกสีน้ำมันวัตถุดิบเพื่อให้น้ำมันมีสีใส และไม่มีกลิ่นหืน
– การต้มสบู่ เพื่อให้ได้เกล็ดสบู่ และกลีเซอรีน ด้วยการเติมด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์
– ขั้นตอนการแยก โดยการแยกเกล็ดสบู่ และกลีเซอรีนออกจากกัน
– ขั้นตอนการฟิต เป็นการนำเอาเกล็ดสบู่เข้าหม้อฟิตเพื่อกำจัดเกลือที่ตกค้างในเกล็ดสบู่
– การระเหยน้ำ ด้วยการเป่าแห้งเกล็ดสบู่เหลวเพื่อกำจัดน้ำที่ผสมอยู่ และเพื่อให้เกล็ดสบู่แห้งจับตัวเป็นก้อน เรียกว่า สบู่ดิบ
– นำสบู่ดิบมาผสมกับส่วนผสมต่างๆ ภายใต้ความร้อนจนสารทั้งหมดละลายรวมตัวกัน และผ่านเข้าเครื่องอัดความหนาแน่นเพื่อให้สบู่เป็นก้อนที่คงตัว และสม่ำเสมอ
– เมื่อสบู่ที่ออกจากเครื่องอัดความหนาแน่นแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการรีดให้เป็นแท่งยาว และตัดด้วยเครื่อง
– ก้อนสบู่ที่ตัดเป็นก้อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการปั้มบนแม่พิมพ์ และตีตรา เข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุในขั้นสุดท้าย
2. การผลิตสบู่สมุนไพรภาคครัวเรือน
2.1 สารตั้งต้น
การทำสบู่ในภาคครัวเรือนนิยมผลิตสบู่ก้อนขุ่น สบู่ก้อนใส และสบู่เหลว ซึ่งจะใช้สารตั้งต้นที่แตกต่างกัน โดยสามารถสั่งชื้อได้ตามอินเตอร์เน็ตหรือร้านขายส่งสารเคมีทั่วไป
– สบู่ก้อนขุ่น ใช้สารตั้งต้น คือ เกล็ดสบู่ (soap) ที่เกิดจากการใช้ด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์
– สบู่ก้อนใส ใช้สารตั้งต้น คือ กลีเซอรีนก้อน
– สบู่เหลว ใช้สารตั้งต้น คือ เกล็ดสบู่ (soap) ที่เกิดจากการใช้ด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์
วิธีการเตรียมสารตั้งต้น
วัสดุ และสารเคมี:
– น้ำ 1 ลิตร
– โซเดียมไฮดรอกไซด์ 100 กรัม
– น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันปาล์ม 3 ลิตร
วิธีการ:
– ละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ในหม้อที่ต้มน้ำ คนให้ละลายจนหมด และตั้งทิ้งไว้ให้อุ่น
– เทน้ำมันพืชลงในหม้อ กวนให้เข้ากัน และเทใส่แม่พิมพ์หรือภาชนะอื่น
– รินน้ำ และสารละลายใสที่เป็นกลีเซอรีนส่วนบนออก
– สบู่จะนอนก้นเป็นตะกอนขาวขุ่น ซึ่งต้องตั้งทิ้งไว้ให้เย็น จนเกล็ดสบู่ (soap) จับตัวเป็นก้อน สำหรับการทำสบู่ก้อนขุ่น
2.2 สมุนไพร
สมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมทำสบู่มีมากมายหลายชนิด ซึ่งอาจประยุกต์ใช้สมุนไพรชนิดอื่นนอกเหนือจากที่ยกตัวอย่าง
– มะขาม มะนาว มะกรูดให้วิตามินซี และกรด ช่วยขัดเซลล์ผิว และป้องกันเชื้อจุลินทรีย์
– เปลือกมังคุดให้วิตามินดี ลดรอยด่างดำ
– มะละกอ ให้วิตามินเอ ช่วยบำรุงผิวให้ขาว
– ว่านหางจระเข้ ให้วิตามินอีช่วยลดรอยจุดด่างดำ
– ขมิ้น ดาวเรือง ช่วยบำรุงผิว
การเตรียมสมุนไพร สามารถทำได้โดย
– การทำเป็นผง ด้วยการตากแห้ง และนำมาบดให้เป็นผงละเอียด และนำตากให้แห้งอีกครั้ง
– การสกัดเป็นสารละลาย ด้วยการบดสมุนไพรให้ละเอียด และนำมาต้มสกัดหรือนำมาแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ผสมกับน้ำ
สบู่สมุนไพรควรเติมผงสมุนไพรประมาณร้อยละ 1-5 ของน้ำหนักสบู่ และสมุนไพรที่ได้จากการต้มสกัด ควรเติมประมาณร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักสบู่
2.3 สารเติมแต่ง
– น้ำหอม เป็นสารเติมแต่งที่นิยมเติมในการทำสบู่ สามารถใช้ได้ทั้งน้ำหอมทั่วไปหรือน้ำหอมสำหรับสบู่
– ผงสี สารลดความกระด้าง สารรักษาความชื้น สารป้องกันการหืน ซึ่งสารเหล่านี้อาจไม่ใช้ก็ได้หากไม่สะดวกที่จะหาซื้อ
2.4 ขั้นตอนการทำสบู่
– นำเกล็ดเกล็ดสบู่ใส่หม้อภาชนะ ตั้งไฟอ่อนๆให้ละลายจนหมด
– เติมสมุนไพร หากเป็นผงประมาณไม่เกิน 50 กรัม หากเป็นน้ำสกัดไม่เกิน 100 ซีซี
– เติมสารเติมแต่ง เช่น น้ำหอม ผงสี และอื่นตามที่หาซื้อได้ พร้อมคนให้ละลายเข้ากัน
– เทสารละลายสบู่ในแม่พิมพ์ และรอจนแห้งตัวก็จะได้สบู่สำหรับใช้งาน
เครดิต  http://www.siamchemi.com/%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B9%88/

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

แป๊ะๆๆ เกษตรไทยไอดอล ตอน เกษตรผสมผสาน ออกอากาศ 23 มีนาคม 2558

การทำปุ๋ยหมัก โดยวัตถุดิบที่ใช้นำมาใช้ผลิตปุ๋ยหมักเทียบเคียงปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ

เห็นมีประโยชน์อยากนำมาเผยแพร่ต่อสำหร้บคนที่ต้องการทำปุ๋ยให้เอง  เดี๋ยวจ่าเอกจะลองทำบ้างหากมีเวลา ตอนนี้แป๊ะๆ ไว้ก่อน ใครจะทำก็ลองดูตามนี้คับ...


การทำปุ๋ยหมัก โดยวัตถุดิบที่ใช้นำมาใช้ผลิตปุ๋ยหมักเทียบเคียงปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ


ปุ๋ยหมักโดยทั่วไปมักมีคุณสมบัติและปริมาณแร่ธาตุน้อยกว่าสารเคมี
เวลาใส่ให้แก่พืชจะตอบสนองช้ามาก(ไม่เหมาะกับคนใจร้อน) ต้องใส่ในปริมาณมาก (ไม่เหมาะกับคนไม่แข็งแรง)
ต้องเตรียมการในการผลิตหลายขั้นตอน(ไม่เหมาะกับคนขี้เกียจ) ปุ๋ยเคมีมีเงินซื้อได้ทันที(คนมีเงินแต่คิดไม่เป็น)
ผมอ่านเจอเลยในเวปบ้านหมากล้อม.คอม แล้วให้เด็กลองทำดูได้ผลจริงๆครับเลยนำมาบอกต่อ
ก็คนมันอยากบอกทำอย่างไรได้ ทนอ่านเอานะครับ ) ครูชาตรีกล่าวไว้...

โดยวัตถุดิบที่ใช้นำมาใช้ผลิตปุ๋ยหมักเทียบเคียงปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆข้อมูลจาก (นิรนาม (ข), 2553

1.ปุ๋ยหมักสูตร 16-16-16 และปุ๋ยหมักชีวภาพสูตร 15-15-15
วัตถุดิบต่อส่วนผสม
รำอ่อน 1 ส่วน
ดินดี 1 ส่วน
แกลบดิบ 1 ส่วน
แกลบดำ 1 ส่วน
มูลสัตว์ 1 ส่วน
พืชตระกูลถั่ว 1 ส่วน

2. ปุ๋ยหมักสูตร 16-20-0
วัตถุดิบต่อส่วนผสม
รำอ่อน 1 ส่วน
ดินดี 2 ส่วน
แกลบดิบ 4 ส่วน
แกลบดำ 4 ส่วน
มูลสัตว์ 4 ส่วน
พืชตระกูลถั่ว 4 ส่วน


ขั้นตอนและวิธีการทำปุ๋ยหมักสูตร
1.นำส่วนผสมทั้งหมด(ยกเว้นรำอ่อนให้ใส่หลังสุด) นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
2.เกลี่ยส่วนผสมออกเป็นวงกลมแล้วนำน้ำหมักที่ผสมไว้แล้วราดลงไปให้ทั่วกองปุ๋ยโดยให้เปียกพอประมาณ ความชื้นประมาณ 60%
โดย อัตราส่วนในการผสมน้ำหมักชีวภาพ นำกากน้ำตาล 2 ช้อนแกงลงผสมกับน้ำหมัก 2-8 ช้อน แล้วเติมน้ำ 20 ลิตรคนให้เข้ากันนำใส่บัวรดน้ำรดกองปุ๋ย

ข้อแนะนำและควรปฏิบัติ
1.ในการผสมปุ๋ยและเก็บปุ๋ยควรทำในร่มหรือในโรงเรือน
2.ในระยะ 7 วันแรกปุ๋ยจะมีความร้อนสูง ควรพลิกกลับปุ๋ยทุกวันในระยะ 2-7 วันแรก
3.การเก็บปุ๋ยไม่ควรซ้อนกันเกิน 5 ชั้น
4.หลังจากปุ๋ยคลายความร้อนแล้วนำไปใช้งานได้
5.น้ำที่ใช้ผสมกับกากน้ำตาลหรือน้ำหมักให้ใช้น้ำซาวข้าวแทนได้จะทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น


การผลิตปุ๋ยหมักสูตร“โคบาชิ”เทียบเคียงปุ๋ยเคมี46-0-0
วัสดุสำหรับการผลิตปุ๋ยสูตรเทียบเคียงปุ๋ย 46-0-0(โบโบชิ)

- รำ 1 กระสอบ
- แกลบดิบ 1 กระสอบ
- มูลไก่ 1 กระสอบ
- ขี้ค้างคาว 6 กิโลกรัม
- น้ำหมักชีวภาพ พด.2 หรือ EM
- กากน้ำตาล
วิธีการทำ
- ผสมรำ แกลบดิบ มูลไก่ ขี้ค้างคาว คนให้เข้าด้วยกันกองบนพื้นราบ
- ใช้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 ถ้าไม่มีให้ใช้ EM พร้อมกับใช้กากน้ำตาลรดบนกองขณะผสมวัสดุทำปุ๋ยให้ได้ความชื้นที่ 60 % วัดความชื้นที่เหมาะสมได้จากการกำวัสดุที่ผสมแล้วให้แน่นแล้วปล่อยให้อยู่ใน อุ้งมือ ถ้าความชื้น 60 % จะติดกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน
- ตักปุ๋ยที่ได้บรรจุใส่ในกระสอบฟาง อย่าใส่จนเต็มกระสอบ จากนั้นมัดปากกระสอบ เก็บเข้าไว้ในที่ร่ม หมั่นกลับกระสอบทุกวัน โดยวันแรกวางกระสอบไว้แนวนอน
- จากนั้นกลับกระสอบไปมาวันละ 1 ครั้งจนครบ 7 วัน ในวันที่ 7 ให้วางกระสอบในแนวตั้งจากนั้นเปิดปากกระสอบระบายความร้อนทิ้งไว้อีก 1 คืน จะได้ปุ๋ยหมักโบโบชิสามารถนำไปใช้ได้
วิธีการนำไปใช้
– ใช้หว่านบนแปลงปลูกพืช ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตรแทนการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0

ที่มาโดย ครูชาตรี ต่วนศรีแก้ว
https://www.facebook.com/cha.tisol

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

การกินอาหาร กับ โรคต่างๆ (โดยเฉพาะมะเร็ง)

การกินอาหาร กับ โรคต่างๆ (โดยเฉพาะมะเร็ง)

วันนี้อยากจะคุยเรื่องการกิน กินอย่างไรให้ห่างไกลโรค....ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดจะเขียนมานานแล้ว แต่บิ้วอารมณ์ยังไม่ได้ซักที วันนี้อารมณ์พอได้ที่ ขอเขียนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันซักนิดนะครับ
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจ ว่าระบบร่างกายของเราเป็นอย่างไร ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรมาก มารู้แค่เรื่องลำไส้ของคนเราพอ คนเรามีลำไส้รวมแล้ว ยาวประมาณ 30 ฟุต หรือประมาณ 9 เมตร ซึ่งการที่คนมีลำไส้ที่ยาวนี่เองจึงจำเป็นต้องมาการกินอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะให้ห่างจากโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็ง ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยเป็นลำดับต้นๆ
เมื่อเรารู้เรื่องลำไส้แล้ว มาดูว่าเราควรจะกินอาหารอย่างไรให้ห่างไกลโรค ซึ่งผมขอแบ่งอาหารเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่เป็นกรด และประเภทที่เป็นด่าง ร่างกายคนต้องการอาหารประเภทเป็นด่าง ประมาณ PH 7-7.5 ซึ่งจะทำให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
    อาหารที่มีสภาพเป็นกรด ( Acid Food)    
             - เนื้อสัตว์ทุกชนิด ปลา และไข่
             - น้ำชา กาแฟ
             - เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
             - ผงชูรส
             - ของหมักของดอง น้ำส้มสายชู
             - แป้ง และเมล็ดข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ขัดสีจนขาวแล้ว
             - น้ำมัน ไขมันทุกชนิด และอาหารทอดน้ำมัน
             - อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
 โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลทรายขาว และผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล เช่น แยม วุ้น น้ำเชื่อม ลูกกวาด ขนมหวาน ไอศกรีม ผลไม้กระป๋อง น้ำอัดลม โดยเฉพาะน้ำอัดลมจะมีความเป็นกรดสูงมาก และทำให้ฟันผุเร็วอีกด้วย


     อาหารที่มีสภาพเป็นด่าง ( Alkaline Food )    
          - พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลืองมีความเป็นด่างมากที่สุด แพทย์โบราณจึงมักนิยมใช้ถั่วเหลืองทำเป็นอาหารนานาชนิด ที่จะช่วยปรับสภาพผู้ป่วยที่ร่าง กายมีสภาพความเป็นกรดมากเกินไป
          - ผักทุกชนิด โดยเฉพาะผักใบเขียว ยอดอ่อนของพืชผักต่างๆ ช่วยซึมซับสิ่งสกปรกที่ร่างกายไม่ต้องการออกไปได้อย่างดี
          - น้ำผึ้ง และน้ำตาลอ้อย
          - นม เนย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมที่ทำจากเนย (buttermilk)
          - ลูกนัท อัลมอนด์
          - ผลไม้ และน้ำผลไม้สด อาหารชนิดนี้จะมีสภาพความเป็นด่างสูง สามารถย่อยตัวของมันเองได้เมื่อกระทบกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ดังนั้น อวัยวะย่อยอาหารแทบจะไม่ต้องทำงานเลย
          - มะละกอ มีเอ็นไซม์ช่วยย่อยอาหาร มีประโยชน์อย่างยิ่งต่ออวัยวะอาหารและขับถ่าย
          - แอปเปิ้ล อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่ง่ช่วยสลายสารพิษในปาก ช่วยทำความสะอาดเหงือก
          - สับปะรด มีสารโบรเมลิน ช่วยทำความสะอาดตับอ่อน
          - มะเขือเทศ มีความเป็นด่างสูงมาก ช่วยลดความเป็นกรดสูงในร่างกายของคนได้ดี
          - กล้วย มีโพแทสเซียมอยู่มากจึงเป็นยาบำรุงประสาทที่ดีในกรณีที่ประสาทตึงเครียด
          - มะพร้าว ช่วยบำบัดโรคที่เกิดจากความเป็นกรดสูงของร่างกาย
          - มะนาว แม้ว่าจะมีความเปรี้ยวเป็นกรดในตัวเอง แต่มันจะกลายเป็นด่างเมื่ออยู่ในกระบวนการย่อย แพทย์แผนโบราณจึงมักใช้น้ำมะนาวเป็นยา ในการบำบัดโรค
          - ส้ม เป็นอาหารที่ช่วยในการทำความสะอาด มีวิตามินซีสูง
          - สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ ลูกเกด มีค่าเป็นด่าง แต่ต้องกินเวลาสุก ส่วนตอนดิบจะมีสภาพเป็นกรด
เครดิต ...thaiza

เมื่อเรารู้ว่าร่างกายต้องการอาหารที่เป็นด่างแล้ว ควรจะกินอะไร....และอะไรที่เป็นด่างบ้าง....เอาแบบจำง่ายๆ อาหารที่เป็นกรดส่วนมากจะเป็นพวกเนื้อสัตว์ ทุกชนิด ส่วนอาหารที่เป็นด่าง ได้แก่ผัก ผลไม้ ซึ่งอัตราส่วนการกินในแต่ละวันควรเป็นดังนี้ คือ เราควรทานเนื้อสัตว์ ไม่เกิน30% และผักผลไม้ประมาณ 70% ซึ่งก็คือทานผักเป็นส่วนใหญ่ และผักที่ดีควรที่จะเป็นผักที่ปลอดสารพิษ มาดูเหตุผลกันว่าทำไมถึงต้องทานผักมากกว่าเนื้อสัตว์

จากที่กล่าวมาแล้ว ลำไส้คนเรายาวประมาณ 30 ฟุต ซึ่งยาวกว่าสัตว์ที่กินเนื้อทั่วๆ ไป อาหารประเภทเนื้อ มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากผัก ผลไม้คือ เนื้อ หากมีการฆ่าสัตว์แล้วมาวางไว้เฉยๆ เทียบกับผัก ผลไม้ ไม่เกิน 1 วันเนื้อจะเน่า ส่วนผัก ผลไม้จะอยู่ได้หลายวัน ด้วยเหตุผลนี้นี่เอง หากเนื้อที่เรากินไป มีการฆ่าแล้วเก็บไว้หลายวัน และเรากินไปกว่าจะขับถ่าย ยิ่งคนที่การขับถ่ายไม่ปรกติ สองวัน สามวันถ่ายที ลองคิดดูล่ะกันเนื้อที่เรากินไปจะเน่าอยู่ในลำไส้เรา ลำไส้ก็จะดูดซึมซากเนื้อเน่าเอาไปสะสมในร่างกาย จะกว่าจะขับถ่ายออกมา ส่วนผัก เมื่อกินเข้าไปหลายๆวัน ก็จะยังไม่เน่า ดังนั้น อย่าลืมพยายามขับถ่ายให้ได้วันละครั้ง ทานน้ำเยอะๆ ทานผักที่ปลอดสารพิษ ทานเนื้อน้อยๆ เท่านี้ก็จะห่างไกลโรค รวมทั้งห่างไกลมะเร็ง

แถมให้ เรื่อง "ศัตรูของมะเร็ง" 
●ศัตรูของมะเร็งกระเพาะอาหาร
คือกระเทียม
●ศัตรูของมะเร็งตับ
คือเห็ด
●ศัตรูของมะเร็งตับอ่อน
คือบร็อคโคลี่
●ศัตรูของมะเร็งปอด
คือผักโขม
●ศัตรูของมะเร็งลำไส้
คือหน่อไม้น้ำ
●ศัตรูของมะเร็งเต้านม
คือสาหร่ายทะเล
●ศัตรูของมะเร็งผิวหนัง
คือหน่อไม้ฝรั่ง
●ศัตรูของ มะเร็งปากมดลูก
คือถั่วเหลือง
จะเห็นว่ามีแต่ผักเท่านั้นที่เป็นศัตรูของมะเร็ง
นี่แระคือเหตุผลว่าทำไมเราควรทานผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ และขอให้เป็นผักที่ปลอดสารพิษ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่จ่าเอกอยากจะทำเรื่องผักปลอดสารพิษ ให้ทุกคนได้ทาน อย่าลืมอุดหนุนผักปลอดสารพิษ และสินค้าแปรรูปจากเห็ด จากฟาร์ม จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทคด้วยนะครับ
หวังว่าการนั่งเขียนเรื่องนี้คงเป็นประโยชน์กับผู้ได้อ่าน ไม่มากก็น้อยนะครับ....ขอบคุณที่อ่านจนจบ...

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

พืชกระแสแรง ต้นอ่อนทานตะวัน หรือ ทานตะวันงออก

พืชกระแสแรง ต้นอ่อนทานตะวัน  หรือ ทานตะวันงออก

ถึงตอนนี้หลายๆคนคงเคยได้ยิน หรือเคยได้ลิ้มลองรสชาติของต้นทานตะวันงอก เมนูต่างๆ ซึ่งเป็นพืชกระแสแรงอีกชนิดหนึ่ง เพราะเป็นพืชปลอดสารพิษ เพาะง่าย กำไรงาม มีสรรพคุณทางโภชนาการมากมาย ดังนี้

สำหรับใครที่สนใจเพาะก็ไม่ยาก มีวิธการง่ายๆ คร่าวๆ ดังนี้ 

1. ทำการล้างเมล็ดที่ได้ซื้อมาจากแหล่งขายเมล็ดที่ขายสำหรับเพาะต้นอ่อนโดยเฉพาะ แล้วแช่เมล็ดในน้ำ ไว้ประมาณ 6-8 ชม.
2. นำเมล็ดที่แช่น้ำ มาห่อผ้ารดน้ำให้ชุ่ม 8-12 ชม. สังเกตุจะมีหน่อเล็กๆ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร 

3. เตรียกระบะพร้อมดินผสมขุยมะพร้าว กรองกากออก แล้วเกลี่ยให้เรียบ สูงประมาณ 2-3 ซม. 

4. นำเมล็ดที่ออกหน่อโรยให้ทั่ว เมล็ดไม่ทับกันเกินไป  แล้วโรยกลบด้วยดินพอไม่เห็นเมล็ด รดน้ำให้ชุ่ม

5. วางกระบะเพาะหรือแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด จนกว่าเมล้ดจะออกและดันขึ้นมา รดน้ำทุกสองวัน หรือสังเกตุดินไม่แห้งเกินไป 
6, เมื่อเมล็ดเริ่มออกให้ทำเปิดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดและการรดน้ำ ทิ้งไว้ 10-20 นาทีให้ปิดไว้  โดยเช้าเย็นประมาณ 2 วัน 

7.  เมื่อเริ่มยาว ประมาณวันที่ 5-6  ให้เปิดรับแสงแดด  ย้ำนะครับ...รับเพียงแสงแดด ไม่ต้องเอาไปตากแดดจะทำให้ต้นอ่อนทานตะวันเหี่ยว ซึ่งจะทำการเปิดรับแสง ประมาณ 2 วัน 

8. หลังจากเปิดรับแสง ต้นทานตะวันงอกจะมีสีเขียว ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์แสง ซึ่งส่วนนี้นี่เองเป็นการสะสมสารอาหารต่างๆ 
9. หลังจากเปิดรับแสงแล้วให้สังเกตุระยะเวลาการตัด  ซึ่งระยะเวลาการตัดที่เหมาะสม ไม่ควรให้ใบคู่ที่สองออก เพาะจะทำให้รสชาติเสีย ควรที่จะมีหน่อยเล็กๆ ก็ทำการตัดล้างน้ำ นำไปปรุงอาหารได้ตามต้องการ 


สำหรับผู้ที่สนใจการเพาะ สอบถามเพิ่มเติม หรือสั่งเมล็ดได้ที่ เพจ "จ่าเอกฟาร์มเห็ดไฮเทค"


https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84/692985730786102


วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สนใจเพาะเห็ดถุง เริ่มต้นอย่างไรดี....??? ตอนที่ 4 การเลือกเชื้อ ต่อเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่าง...???

สนใจเพาะเห็ดถุง เริ่มต้นอย่างไรดี....???
ตอนที่ 4 การเลือกเชื้อ ต่อเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่าง...???
ในการเพาะเห็ดถุง อีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือ การต่อเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่าง, เมล็ดข้าวเลือก หรือเมล็ดธัญพืชต่างๆที่ประหยัด สะดวก หาง่าย (หากผลิตเอง) แต่โดยส่วนมากที่จะนิยมใช้กันคือเมล็กข้าวฟ่าง ซึ่งการเทเชื้อจะสะดวก เมล็ดไหลลงสู่ก้อนเชื้อเห็ดง่าย ทำให้ระยะเวลาที่เชื้ออื่นจะมีการปะปนก็จะน้อยลง ทำให้อัตราการเกิดราเขียวจากขั้นตอนนี้น้อยลงไปด้วย
การเลือกเชื้อ เวลาสั่งเชื้อ ให้บอกคนผลิตเชื้อด้วยว่าเราต้องการใช้เชื้อสำหรับต่อในวันที่เท่าไร เพราะคนทำจะกำหนดได้ว่าเชื้อแต่ละวันเดินกี่วันเต็ม และเมื่อเดินเต็มแล้วก็สามารถทำการต่อได้ หากจะเก็บไว้ควรสังเกตุเชื้อด้วยว่ามีการปลอมปน ของราอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะสังเกตุเห็นเป็นจุดๆ ดำๆ เขียวๆ และไม่ควรเก็บเชื้อไว้นานจนเกินไป
การสั่งซื้อเชื้อ ควรสั่งกับร้านที่ไว้วางใจ เนื่องจากเชื้อ ที่ทำเราอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีการต่อเชื้อมากี่รุ่นแล้ว อย่างเช่นเชื้อตัวอย่าง ผมได้ทดลองทำการต่อเชื้อ รุ่นที่ S3 หรือ รุ่นที่3 ซึ่งเป็นการต่อเพื่อทดลองดูการเดินของเส้นใย แต่บางที่ อาจจะมีการต่อเชื้อ รุ่นที่ 4 หรือมากกว่านั้นก็ได้
ขั้นตอนการเทเชื้อหลายๆคนคงมีวิธีการหลากหลาย ทั้งในห้องแอร์ ห้องปิดมิดชิด หรือกลางที่โล่ง หัวใจของการเทเชื้อคือ ช่วงเวลาที่ปลอดเชื้ออื่นน้อยที่สุด มีการพัดของลมน้อยที่สุด และเชื้อที่เทสัมผัสอากาศน้อยที่สุด พูดง่ายๆ คือทุกอย่างต้องสะอาด แม้แต่ตัวคนเทเชื้อเองก็ตาม ควรที่จะทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อยก่อนทำการเทเชื้อ
การบ่มก้อน มีหลายวิธี แล้วแต่พี้นที่สะดวก ว่าจะแนวนอน หรือแนวตั้้ง ขอให้เป็นพื้นที่อากาศถ่ายเท ไม่โดนแสงแดด ไม่โดนฝน และมีเชื้อโรค หรือไรรบกวน ทางที่ดีก่อนการนำก้อนไปพักควรทำความสะอาดโรงเรือนด้วยการฉีดพ่นด้วยสาร ชีวภาพไล่แมลง เทปูนขาว เพื่อไล่แมลง
เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ แต่อย่าลืมตรวจดูการเดินของเส้นใยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะประเมินผลงานเป็นขั้นตอนไป ว่าปัญหาเกิดจากขั้นตอนไหนบ้าง.....
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังศึกษาไม่มากก็น้อยนะคับ

สนใจเพาะเห็ดถุง เริ่มต้นอย่างไรดี....??? ตอนที่ 3 สูตรผสมอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดทำอย่างไร...???

สนใจเพาะเห็ดถุง เริ่มต้นอย่างไรดี....???
ตอนที่ 3 สูตรผสมอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดทำอย่างไร...???
สวัสดีครับแฟนเพจทุกๆ ท่าน วันนี้ มาตามสัญญาหลังจากที่ติดภาระกิจมากมาย มีแฟนเพจหลายๆท่านสอบถามว่าสูตรผสมอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดจะต้องใส่อะไรบ้าง ตอบตรงๆ.....จ่าเอกก็มึนเหมือนกันว่าจะตอบว่าอย่างไร เอาเป็นว่า เรามาคิดค้นสูตรด้วยตัวเองจะดีกว่า เนื่องจาก มีหลายๆปัจจัย ที่ทำให้สูตรแต่ละที่ไม่เท่ากัน .....เริ่มตั้งแต่ ขี้เลื่อย (สำคัญมาก) ขี้เลื่อยแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางที่ยางพาราเพียวๆ บางที่ผสมไม้อื่นอีกมากมาย บางครั้งเป็นขี้เลื่อยใหม่ บางครั้งเป็นขึี้เลื่อยเก่า
ดังนั้นการทำก้อนจะหาสูตรที่ตายตัวยาก จึงต้องปรับให้เข้ากับฟาร์มของแต่ละฟาร์ม แต่สิ่งที่ควรรู้ส่วนผสมหลักๆของการทำก้อน ดังนี้คับ
1. รำละเอียด ถืออาหารเสริมที่ใช้กันมาก มีคุณค่าด้านคาร์โบไฮเดท โปรตีน และวิตามินบีซึ่งเห็ดต้องการมาก การผสมรำจะผสมเท่าไรก็ได้ แต่เนื่องจากรำมีคุณค่าทางอาหารสูงจึงเป็นที่ต้องการของเชื้อจุลินทรีย์อื่น ที่เป็นศัตรูเห็ด ดังนั้นหากเติมรำมากไป โอกาสจะทำให้ก้อนเชื้อเห็ดถูกรบกวนจากเชื้ออื่นๆ จะมีมากตามไปด้วย ควรอัตราส่วนที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสม พอดี 6-7 % จะได้ผลดีที่สุด ถ้าใช้มากกว่านี้จะเสียง่าย ใช้น้อยกว่านี้ ผลผลิตจะต่ำ
2. กากน้ำตาล เป็นตัวช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเร่งการเกิดดอกอัตราส่วนที่ใช้ 1-2%
3. ปูนขาว หรือยิปซัม เห็ดจะเจริญได้ดีในสภาพเป็นกลาง ไม่เป็นกรด ไม่เป็นด่างจัดเกินไป คือ ค่าความเป็นกรด ด่าง อยู่ที่ระดับ 6.5-7.2 แต่วัสดุที่นำมาใช้เป็นอาหารเห็ดนั้นส่วนมากจะไม่มีค่ากลาง จึงจำเป็นต้องผสมปูนขาวและยิปซัม เพื่อให้วัสดุที่นำมาเพาะเห็ดมีสภาพค่าเป็นกลางพอดี ปัญหาข้อนี้ตรวจสอบยากว่าวัสดุที่เราผสมจะเป็นกรดหรือต่าง ส่วนผสมก็ใส่ตามความเหมาะสมไม่ควรมากเกินไป
4.ดีเกลือ เป็นเกล็ดสีขาว มีธาตุแมกนีเซียม ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเร่งการเกิดดอกเห็ดทำให้เห็ดออกดอก เร็วขึ้น แต่ไม่ควรไม่มากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นดอกเห็ดยาวหมวกดอกเล็ก
5.น้ำ จะทำให้อาหารของเห็ดมีความชื้นนิยมผสมน้ำ 70-75% โดยผสมน้ำไปพร้อมๆกับการผสมอาหารเห็ด น้ำจะช่วยให้อาหารของเห็ดย่อยสลาย หากผสมชื้นมากเกินไปจะทำให้เชื้อไม่เดิน เป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราตัวอื่นๆ
6.อื่นๆ เช่น ปุ๋ยยูเรีย จุลินทรีย์ วิธีการหมักค้างคืน การหมักขี้เลื่อยก่อนทำก้อน.....อันนี้ปรับตามสภาพแต่ละฟาร์มนะคับ
หวังว่าคงจะพอมีแนวทางในการทำก้อนของแต่ละฟาร์มนะคับ....ขอให้รวยๆ ๆ ทุกๆฟาร์ม มีเห็ดออกตลอดทั้งปี

วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การทำก้อนอาหารเห็ดถุง

 การทำก้อนอาหารเห็ด
วัสดุที่นำมาใช้ในการทำก้อนอาหารเห็ด
วัสดุที่นำมาใช้ในการทำก้อนอาหารเห็ดมีดังนี้ 
         ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน  นิยมใช้ขี้เลื่อยยางพารา เพราะย่อยสลายเร็ว มีสารอาหารที่เห็ดชอบคือ   คาร์บอน,ไนโตรเจน,ลินิน,เซลลูโลส,ส่วนมากสารอาหารเหล่านี้อยู่ในรูปที่เห็ดนำไปใช้   ได้เลย หรือถ้าไม่มีขี้เลื่อยไม้ยางพาราก็ควรจะหาขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนอย่างอื่นแทนก็ได้เช่น ขี้เลื่อยไม้มะม่วง ขี้เลื่อยไม้นุ่น ขี้เลื่อยไม้ก้ามปู ขี้เลื่อยไม้มะกอก
          ส่วน อาหารเสริมอื่นๆ ขี้เลื่อยไม่เบญจพรรณหรือไม้  เนื้อแข็งจะใช้ไม่ได้ เพราะการย่อยสลายยาก แต่ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนที่จะนำมาใช้เพาะเห็ดนั้นก็ควรจะเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่เก่า ถ้าใหม่จะใช้ไม่ดี เพราะจะมีอาหารจุลินทรีย์อื่นๆต้องการอยู่มากจะทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อนำมาทำก้อนเชื้อเห็ดเพราะเส้นใยเห็ดบางมาก คือ
      รำละเอียด เป็นอาหารเสริมที่นิยมใช้กันมาก เพราะรำอุดมไปด้วยโปรตีน และวิตามินบีซึ่งเห็ดต้องการมาก การผสมรำจะผสมเท่าไรก็ได้ แต่เนื่องจากรำมีคุณค่าทางอาหารสูงจึงเป็นที่ต้องการของเชื้อจุลินทรีย์อื่นที่เป็นศัตรูเห็ด ดังนั้นหากเติมรำมากไป โอกาสจะทำให้ก้อนเชื้อเห็ดถูกรบกวนหรือเสีย เนื่องจากเชื้อราจึงมีอยู่ไม่มาก ควรใช้อัตราส่วนที่   พอดี  6 %  จะได้ผลดีที่สุด ถ้าใช้มากกว่านี้จะเสียง่าย ใช้น้อยกว่านี้ ผลผลิตจะต่ำ

                
        ปูนขาว และยิปซัม เห็ดจะเจริญได้ดีในสภาพเป็นกลาง  ไม่เป็นกรด ไม่เป็นด่างจัดเกินไป คือ ค่าความเป็นกรด ด่าง อยู่ที่ระดับ 6.5-7.2 แต่วัสดุที่นำมาใช้เป็นอาหารเห็ดนั้นส่วนมากจะไม่มีค่ากลาง จึงจำเป็นต้องผสมปูนขาวและยิปซัม     เพื่อให้วัสดุที่นำมาเพาะเห็ดมีสภาพค่าเป็นกลางพอดี




         ดีเกลือ  เป็นเกล็ดสีขาว มีธาตุแมกนีเซียม ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเร่งการเกิดดอกเห็ดทำให้เห็ดออกดอกเร็วขึ้น แต่ไม่ควรไม่มากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นดอกเห็ดยาวหมวกดอกเล็ก





           น้ำ จะทำให้อาหารของเห็ดมีความชื้นนิยมผสมน้ำ 60-70% โดยผสมน้ำไปพร้อมๆกับการผสมอาหารเห็ด น้ำจะช่วยให้อาหารของเห็ดย่อยสลาย   
    



                                       
       กากน้ำตาล ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเร่งการเกิดดอก    

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำก้อนอาหารเห็ด
ถุงพลาสติกทนร้อน  (ถุงเพาะเห็ด)
ขนาด   7 ×11 นิ้ว  
คอพลาสติก
สำลีอย่างเลว
ยางรัดวงเล็ก
กระดาษธรรมดาขนาด
4 ×4 นิ้ว
กะละมังหรือเข่ง
ตาชั่ง
บัวรดน้ำหรือถังตักน้ำ
  สูตรอาหารเห็ด
 สูตรอาหารที่ใช้ 
            ในการเพาะเห็ดโดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราในถุงพลาสติก มีสูตรอาหารที่ใช้ได้กับเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดสกุลนางรม เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดหลินจือ ซึ่งมีดังนี้
             ขี้เลื่อยไม้ยางพารา                   100                  กิโลกรัม
             รำละเอียด                                6-8                  กิโลกรัม
             น้ำตาลทราย                             2                     กิโลกรัม
             ปูนขาว                                    1.2                   กิโลกรัม
             ยิปซั่ม                                      2                      กิโลกรัม
             ดีเกลือ                                     0.2                   กิโลกรัม        
             น้ำสะอาด                                 60-70               ลิตร
            ในสูตรนี้ อาจตัดน้ำตาลทรายและยิปซั่มออกไปจากสูตรก็ได้ นอกจากนี้ยังมีสูตรอีกหลายสูตร แตกต่างไปตามตำราและฟาร์มเห็ดแต่ละแห่ง

สูตรเห็ดนางฟ้า-นางรม 
            ขี้เลื่อยไม้ยางพารา                              300         กิโลกรัม
            รำละเอียด                                           15           กิโลกรัม
            ปูนขาว                                                3             กิโลกรัม
            ดีเกลือ                                                0.2          กิโลกรัม
            ยิปซั่ม , กากน้ำตาล                             3            กิโลกรัม
            น้ำ                                                     60%
การบรรจุและอัดถุงก้อนอาหารเห็ด
การบรรจุและอัดถุง 
         ในการบรรจุและอัดถุง อาจใช้เครื่องทุ่นแรงก็ได้ ขั้นตอนจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเครื่องทุ่นแรง แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการบรรจุและอัดถุงด้วยมือ
         1. นำถุงเพาะเห็ดมาคลี่ถุงออก ตักขี้เลื่อยลงในถุงๆละ 1 กก.
         2. กระแทกก้นถุงกับพื้นให้ก้นถุงเรียบและแน่น
         3. ใช้มือหรือขวดแบนทุบปากถุงให้ขี้เลื่อยในถุงแน่นสม่ำเสมอ โดยถุงไม่ ปริแตกหรือฉีกขาด
         4. แต่งหน้าถุงให้เป็นรูปกระทะคว่ำ
         5. สวมคอขวดลงในปากถุง ดึงปลายถุงให้คอขวดติดแน่นอยู่ที่กึ่งปลายปากถุง แล้วพับชายถุงลมและดึงให้แน่น
         6. ใช้ยางรัดชายพลาสติกให้แน่นกับคอขวดที่ปากถุง
         7.ใส่จุกสำลีให้แน่นและเต็มคอขวด
          8. สวมฝาครอบนึ่งหรือปิดทับด้วยกระดาษรัดยางด้วยยางให้แน่น ถือว่าเสร็จ
          9. ทำถุงต่อไ
ปจนเสร็จโดยให้แต่ละถุงสวยงามเรียบร้อย สม่ำเสมอ
สูตรเห็ดนางฟ้า-นางรม(สูตรขี้เลื่อยไม้ยางพารา 50 กก.) 
           ขี้เลื่อยไม้ยางพารา                               50          กิโลกรัม
           รำอ่อน (รำละเอียด)                             2.5          กิโลกรัม
           ปูนขาว                                                0.5           ขีด
           ดีเกลือ                                                 3             กรัม
           ยิปซั่ม                                                  0.5          ขีด
           กากน้ำตาล                                          3              กิโลกรัม
           น้ำ                                                       60 %

การผสมอาหารเห็ด

         ในการผสมอาหารเห็ดจะทำอย่างไรก็ได้   เพื่อให้ส่วนผสมตามสูตรเข้ากันได้ดี                    ในเวลาอันรวดเร็ว ข้อเสนอแนะวิธีการดังนี้ (ยกเว้นการใช้เครื่องผสม) คือ
         1. ปรับสูตรอาหารให้เป็นตามปริมาณงานที่จะทำ เช่น ขี้เลื่อยจาก 100 กิโลกรัม. เป็น  200 กิโลกรัม และ 500 กิโลกรัม เป็นต้น จะต้องปรับสูตรวัสดุตามไปด้วยทุกรายการ
         2. ชั่งหรือตวงขี้เลื่อยให้ได้ตามสูตร เทเป็นกองยาวกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวไปจนหมดขี้เลื่อย
         3. ชั่งรำละเอียด น้ำตาลทราย ดีเกลือ และยิปซั่มหว่านทับขี้เลื่อยทีละอย่างจนหมด สำหรับดีเกลือมีปริมาณน้อย การหว่านเลยอาจไม่ทั่วถึง ควรนำไปผสมขี้เลื่อยแล้วหว่านก็จะดีกว่าไม่ผสม
          4. ร่อนปูนขาวด้วยตาข่ายมุ้ง ชั่งให้ได้ตามสูตร แล้วหว่านทับลงในกองขี้เลื่อยจนทั่วทั้งกอง
          5. ใช้พลั่วปลายตัด 2 อัน ผสมโดยหันหน้าเข้าหากองขี้เลื่อยทั้ง 2 คน อยู่ตรงกันข้ามแล้วตักพลั่วพลิกส่วนอาหารไปด้านซ้าย-ขวาไปมารอบๆ 2-3 รอบ ให้ส่วนผสมเข้ากันดี
           6. เตรียมน้ำไว้ให้พร้อมใส่บัวรด ขณะผสมไปก็รดน้ำไปพร้อมกับการผสมอีก  3 - 4 รอบ กะว่าความชื้นในกองมีความชื้นประมาณ 65-70 % โดยสม่ำเสมอจึงหยุด หากขี้เลื่อยมีความชื้อหรือถูกน้ำฝน ปริมาณน้ำที่เติมในสูตรนี้อาจน้อยกว่านี้
           7.   ทำการตรวจสอบความชื้นด้วยการสัมผัส โดยกำขี้เลื่อยขึ้นมากำให้แน่น แล้วปล่อยมือ ขี้เลื่อยจะจับตัวเป็นก้อนหลวมๆ แสดงว่าความชื้นพอเหมาะ หากไม่จับตัวเป็นก้อนแสดงว่าแห้งเกินไป หากเป็นก้อนไม่แตกกระจาย และขณะกำจะมีน้ำไหลซึมออกทางง่ามมือแสดงว่าเปียกเกินไป ให้ปรุงแต่งให้ความชื้นเหมาะสมก็พร้อมจะบรรจุและอัดลงในถุงได้ ส่วนผสมนี้จะต้องอัดถุงให้เสร็จภายใน 3 วัน หากเกินกว่านี้ส่วนผสมจะเน่าเสียหาย

ขั้นตอนการปฏิบัติงานทำก้อนอาหารเห็ด 
           1.   เตรียมวัสดุ-อุปกรณ์ที่จะใช้ในการผสมอาหารเห็ด
           2.   เตรียมบริเวณสถานที่ที่จะผสมอาหารเห็ด
           3.   ชั่งอัตราส่วนวัสดุที่จะผสมตามสูตรที่กำหนด
           4.   นำวัสดุที่ชั่งไว้ตามอัตราส่วนผสมรวมกันคลุกเคล้าให้เข้ากัน
           5.   ขณะผสมเตรียมน้ำให้พร้อมใส่บัวรดน้ำขณะผสมไปก็รดไปพร้อมกับการผสมอีก 3 - 4 รอบ กะให้ความชื้นในกองมี 60-70 % โดยสม่ำเสมอ
            6.   การตรวจสอบความชื้นด้วยการสัมผัสโดยกำขี้เลื่อยให้แน่น แล้วปล่อยมือ  ขี้เลื่อยจะจับตัวเป็นก้อนหลวมๆ แสดงว่าความชื้นพอเหมาะ หากไม่จับตัวเป็นก้อน แสดงว่าแห้งเกินไป แต่ถ้าขณะกำมีน้ำไหลซึมออกมาทางง่ามมือแสดงว่าเปียกเกินไป ให้นำขี้เลื่อยผสมลงไปอีกจนกว่าจะพอดี
             7.    ตักอาหารผสมของเห็ดลงในถุง ทำการอัดให้แน่นแข็ง ถุงต้องไม่แตก ขนาดพอดี  สูง 7 นิ้ว  น้ำหนัก 7-9 ขีด มีขนาดสวยงามพอดี
              8.   สวมคอพลาสติก พับปากถุงขณะที่พับต้องดึงปากถุงรอบๆให้ตึง รัดยางวงเล็ก  3 รอบ
              9.   อุดปิดปากด้วยสำลีอย่างเลวเพื่อกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาเมื่อนึ่งเสร็จ
              10. เอากระดาษปิดปากถุง รัดยางวงเล็ก 3 รอบให้แน่น
              11. ทำความสะอาดบริเวณที่ปฏิบัติงานให้สะอาดเรียบร้อย เก็บวัสดุ – อุปกรณ์             ที่นำมาใช้ปฏิบัติงานให้เรียบร้อย มีระเบียบ สวยงาม


ปัญหาที่พบในการทำเชื้อเห็ด
1.เชื้อเห็ดไม่เจริญ อาจมีสาเหตุจาก หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์ มีก๊าซแอมโมเนียเหลืออยู่ ความชื้นในขี้เลื่อยสูงเกินไป อากาศในห้องบ่มเย็นเกินไป เป็นต้น
2.เชื้อเห็ดเสียเนื่องจากมีเชื้ออื่นปนเปื้อน อาจมีสาเหตุจากอุณหภูมิของหม้อนึ่งต่ำเกินไป หมักปุ๋ยไม่ได้ที่ ถุงพลาสติก รั่ว มีรู จุกสำลีเปียก หรือใช้สำลีเก่า อาจจะเป็นพาหนะนำเชื้อโรคได้ หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น
3.เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุด หรือเดินเพียงบาง ๆ เนื่องจากขี้เลื่อยหมักไม่ได้ที่ ทำให้มีกลิ่นแอมโมเนียเหลืออยู่ มีสารที่เป็นพิษเจือติดอยู่ เช่น น้ำยางจากขี้เลื่อย น้ำมัน ผงซักฟอก อุณหภูมิในห้องบ่มต่ำเกินไป ปุ๋ยเปียกเกินไป หรือความชื้นในปุ๋ยไม่สม่ำเสมอ
4.เส้นใยเจริญบางมาก สาเหตุจาก อาหารในปุ๋ยไม่เพียงพอมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อน ขี้เลื่อยที่ใช้มีพิษต่อเห็ด
5.เชื้อเห็ดเดินเต็ม แต่ไม่สร้างดอก อาจเนื่องจากเชื้อเห็ดเป็นหมัน
6.ออกดอกกช้า ผลผลิตต่ำ สาเหตุจาก เชื้อเห็ดเสื่อม อาหาร ความชื้น ไม่เพียงพอ

เครดิต http://www.simuang.ac.th/vichakhan/somchai/unit_4.html

ค้นหาบล็อกนี้